กนอ. จับมือ จุฬาฯ ผุดโครงการตรวจสุขภาพฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ให้นิคมฯ และชุมชน

กนอ. ร่วมกับ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการตรวจสุขภาพ เพื่อส่งเสริมด้านสุขภาพให้แก่ บุคลากร กนอ. ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านสุขภาพที่ยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นางนลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการ (บริหาร) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจโครงการตรวจสุขภาพ ร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค ให้แก่บุคลากรของ กนอ. ผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม และชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ยกระดับแนวทางการให้บริการตรวจสุขภาพภายในนิคมอุตสาหกรรม ด้วยความสามารถในการให้บริการสุขภาพทางการแพทย์ ของคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ กนอ. จะเป็นศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์โครงการให้กับบุคลากรของ กนอ. ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้การสนับสนุนทางวิชาการ และร่วมจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับการดำเนินโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ในอนาคต

“บันทึกข้อตกลงนี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นของ กนอ. ที่จะใช้ความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร และเครือข่ายที่ กนอ.มี ในการดูแลสุขภาพของแรงงาน ผู้ประกอบการ ตลอดจนชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และยิ่งเราได้รับความร่วมมือจากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยิ่งตอบสนองต่อความต้องการด้านการบริการทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านสุขภาพที่ยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรม”รองศาสตราจารย์ วีริศ กล่าว

รองศาสตราจารย์ ปาลนี อัมรานนท์ คณบดี คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีปณิธานอันแน่วแน่ในการเป็นแหล่งความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีมาตรฐานสูง มุ่งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและประโยชน์แก่สังคมทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เรามุ่งมั่นที่จะผลักดันขอบเขตของความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสร้างนวัตกรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการบริการสุขภาพของประชาชนในปัจจุบันและอนาคต โดยคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะให้ความร่วมมือดังนี้ 1.ให้บริการตรวจสุขภาพตามสิทธิที่ได้รับจากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสิทธิตรวจสุขภาพอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิประกันสังคม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

2.เปิดจุดตรวจเชิงรุก จัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่สำหรับให้บริการตรวจสุขภาพ รวมถึงการออกใบรับรองผลการตรวจให้แก่ผู้เข้ารับบริการ 3.ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเบื้องต้น และการป้องกันตนเองเกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพ 4.จัดหาบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ 5.ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอความช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

6.จัดหาเจ้าหน้าที่จัดเก็บข้อมูลเป็นสถิติ และส่งต่อข้อมูลทางสถิติให้แก่ผู้ประกอบกิจการเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการตรวจทั้งหมด และ 7.ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงที่พบเจอจากการตรวจคัดกรอง โดยให้ปฏิบัติตามเกณฑ์การส่งต่อของระบบการบริการสาธารณสุขต่อไป

“วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความเป็นเลิศด้านการให้บริการดูแลสุขภาพ การศึกษาและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ การลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้ไม่เพียงแสดงเจตนารมณ์ของความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายเท่านั้น แต่รวมถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการพัฒนาการบริการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนในประเทศด้วย ซึ่งพลังแห่งความร่วมมือนี้จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและสร้างอนาคตที่มีสุขภาพดีมากขึ้นสำหรับประชาชนทุกคน” รศ.ปาลนี กล่าว

สำหรับบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกัน และเมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากทั้งสองฝ่ายประสงค์จะขยายระยะเวลาความร่วมมือออกไปอีก ทั้งสองฝ่ายจะตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นเดียวกับการทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password