ก.อุตฯ ตรวจบ่อฝังกลบกาก จ.ตาก พบรอยร้าว จี้บริษัทฯ ซ่อมด่วน
กระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ จ.ตาก ตรวจบ่อฝังกลบกากฯเดิม พบรอยร้าว จี้บริษัทฯ ซ่อมด่วนพร้อมเตรียมอาคารพักเก็บชั่วคราว ย้ำทุกขั้นตอนต้องปลอดภัย เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เมื่อ18 เมษายน 2567 ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ จ.ตาก พร้อมด้วยนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก คณะผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับตัวแทนประชาชนและสื่อมวลชน ตรวจสอบความแข็งแรงและความพร้อมของบ่อฝังกลบกากตะกอนแร่ของ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ในจังหวัดตาก ซึ่งเป็นบ่อที่เคยเก็บกากฯเดิม เพื่อเตรียมการนำ กากตะกอนแร่จากพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งหมด กลับมาฝังกลบอย่างปลอดภัยตามมาตรการ EIA ที่กำหนดไว้
ดร.ณัฐพล เผยผลการตรวจสอบสรุปว่า บริเวณผนังและพื้นบ่อฝังกลบกากตะกอนแร่มีรอยแตกร้าวเป็นช่วง ๆ จึงสั่งการให้เร่งปรับปรุงซ่อมแซม ให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก และได้ตรวจสอบอาคารโรงเก็บแร่ ขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 220 เมตร และสูง 25 เมตร ซึ่งจะใช้เป็นอาคารจัดเก็บพักคอยในระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซมบ่อฝังกลบ พบว่าสามารถรองรับปริมาณกากตะกอนแร่ที่จะทำการขนย้ายจากจังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ ได้อย่างเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ จึงได้สั่งการให้ทำการปูพื้นอาคารด้วยวัสดุป้องกันการรั่วซึม จัดทำระบบรวบรวมน้ำและบ่อตกตะกอน โดยไม่ระบายออกนอกอาคาร ซึ่งตะกอนที่เกิดขึ้นจะนำไปฝังกลบพร้อมกับกากตะกอนแร่ต่อไป.
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ทำการตรวจวัดวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและดินของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ในจังหวัดตาก พบว่า น้ำใต้ดินภายในโรงงานจำนวน 14 ตัวอย่าง น้ำใต้ดินภายนอกโรงงาน บริเวณโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบอล จำนวน 1 ตัวอย่าง และน้ำผิวดินจากบ่อน้ำฝั่งตรงข้ามโรงงานจำนวน 1 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนสารแคดเมียม และตัวอย่างดินทั้งภายในและภายนอกบริเวณโรงงานมีค่าแคดเมียมไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
“ภายหลังจากการจัดทำแผนการบริหารจัดการขนย้ายกากตะกอนแร่กลับไปทำการฝังกลบที่จังหวัดตากในภาพรวมมีความครอบคลุมขั้นตอนต่าง ๆ อย่างครบถ้วนแล้ว จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อฝังกลบที่จังหวัดตากร่วมกับท่านผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เห็นว่าบริเวณพื้นและผนังของบ่อมีความชำรุดเล็กน้อยและมีรอยแตกร้าว จึงได้สั่งการให้บริษัทฯ ทำการซ่อมแซมโดยด่วน และให้เตรียมพื้นที่ในโกดังเก็บแร่ให้พร้อมสำหรับเป็นจุดพักคอยก่อนการนำกากตะกอนแร่ลงบ่อฝังกลบ เพื่อให้สามารถทำการขนย้ายและฝังกลบกากตะกอนแร่ได้โดยเร็วที่สุด โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนโดยรอบ ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องปลอดภัย เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง.