กนอ. ดึงเอกชนตั้งรง.ผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบาฯ ใน “Rubber City”
กนอ. เผย เอกชนรายใหญ่ทุ่มทุนตั้งโรงงานพื้นที่ Rubber City ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ 35 ไร่ มูลค่าการลงทุน 1,057 ล้านบาท ทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบาชนิดไม่เสริมเหล็ก ในเขตอุตสาหกรรมยางขั้นปลายน้ำส่วนหลัง
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ในส่วนพื้นที่ Rubber City ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กับบริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) (Q-Con) เพื่อดำเนินกิจการผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบาชนิดไม่เสริมเหล็ก ในเขตอุตสาหกรรมยางขั้นปลายน้ำส่วนหลัง (Downstream Rubber Zone, DIZ-2) จำนวน 6 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 35 ไร่ มูลค่าการลงทุน 1,057 ล้านบาท
“บริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่ และเป็นลูกค้าเดิมที่ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมหนองแค และยังมีบริษัทในเครือประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง อีกด้วย ซึ่งการที่บริษัทฯ ตัดสินใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้อีกหนึ่งแห่งนั้น เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ครบวงจรทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงการขนส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ” นายวีริศ กล่าว
การลงทุนในครั้งนี้ ยังช่วยส่งเสริมการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและการลงทุน เพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน
สำหรับการลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ในส่วนพื้นที่ Rubber City มีขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 โดยนายวุฒิชัย วงศ์หิรัญเดชา ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ และนายณรงค์เวทย์ วจนพานิช กรรมการผู้จัดการบริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงนาม
นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ 2,261 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 917 ไร่ เขตประกอบการเสรี 113 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย 37 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว 1,194 ไร่ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ จำนวน 48 ราย จำนวนแรงงาน 2,811 คน มูลค่าการลงทุนในนิคมฯ รวม 5,986 ล้านบาท
โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมยางพารา ร้อยละ 37 อุตสาหกรรมอาหาร ร้อยละ 11 อุตสาหกรรมพลาสติก ร้อยละ 11 อุตสาหกรรมเหล็ก ร้อยละ 11 และอุตสาหกรรมอื่นๆ ร้อยละ 30 โดยนักลงทุนจากประเทศไทยให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 56 รองลงมาคือ นักลงทุนจากประเทศมาเลเซีย ร้อยละ 21 นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ร้อยละ 4 และนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ ร้อยละ 19