ซีพี ออลล์ โชว์กำไรปี’66 พุ่ง 1.8 หมื่นล.โตเฉียด 40% จ่อขยายสาขาปีนี้อีก 700 แห่งทั่วไทย
บมจ.ซีพี ออลล์ โชว์ผลประกอบการปี 2566 ทำรายได้กว่า 2.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 31.7% ขณะที่ กำไรสุทธิทะลุ 1.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.3% เผยเศรษฐกิจภาพรวมที่ขยายตัว ส่งผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจและบริษัทในเครือ เติบโตทั้งค้าปลีกและส่ง แถมยังลดต้นทุนการเงินจากการออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทดอกเบี้ยคงที่ได้อีก ตั้งเป้าปี 2567 เตรียมขยายสาขาอีก 700 แห่ง รวมถึงเปิดสาขาใหม่ในสปป.ลาวและกัมพูชา
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในปี 2566 ต่อ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระบุถึง รายได้ก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ว่า มีทั้งสิ้น 26,454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.7% และมีกำไรสุทธิ 18,482 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.3% จากปีก่อน เป็นผลมาจากการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่มธุรกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจร้านสะดวกซื้อ อีกทั้งธุรกิจของห้างโลตัสส์ที่อยู่ในเครือฯ ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้กำไรของบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ได้บันทึกในบัญชีตามวิธีส่วนได้เสียสูงถึง 746 ล้านบาท ทางด้าน ต้นทุนทางการเงินที่ลดลงนั้น พบว่า เป็นเพราะ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัสส์) และ บมจ. ซีพีแอ็กซ์ตร้า ได้ออกหุ้นกู้สกุลบาทอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อนำจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย รวมถึงทั้งลดภาระดอกเบี้ยจ่ายในงบการเงินรวมของบริษัทฯ อีกด้วย
รายงานระบุอีกว่า บริษัทฯมีกำไรต่อหุ้นตามงบการเงินรวม 2.01 บาท กำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ก่อนหักรายการระหว่างกัน แบ่งสัดส่วนตาม 3 ธุรกิจหลัก คือ (กลุ่ม 1) กำไรจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีสัดส่วน 51% (กลุ่ม 2) กำไรจากธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค มีสัดส่วน 34% และ (กลุ่ม 3) กำไรจากธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย มีสัดส่วน 15% ทั้งนี้ สัดส่วนกำไรของ (กลุ่ม 1) เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน สาเหตุหลักจากอัตราการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่สูงกว่า โดยในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้รวม 921,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็น 8.0% เป็นรายได้จากการขายสินค้าและบริการ 895,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% ทั้งนี้ จากการปรับกลยุทธ์ด้านสินค้าและบริการ รวมถึงกลยุทธ์ O2O ของแต่ละหน่วยธุรกิจตอบสนองความต้องการของลูกค้า สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปสู่วิถีชีวิตใหม่
การเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นในปี 2566 ทำให้รายได้รวมในปีนี้ของทุกกลุ่มธุรกิจปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแม็คโคร และโลตัสส์ พบว่า มีการเติบโตของรายได้จากการขายและบริการที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน รายได้รวมก่อนหักรายการระหว่างกัน แบ่งสัดส่วนตาม 3 ธุรกิจหลัก มีดังนี้ (กลุ่ม 1) รายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ มีสัดส่วน 44% (กลุ่ม 2) รายได้จากธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค 50% และ (กลุ่ม 3) รายได้จากธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทยมีสัดส่วน 6% โดยสัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจ (กลุ่ม 1) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า
รายงานยังได้ คาดการณ์การดำเนินงานและแนวโน้มธุรกิจร้านสะดวกซื้อในปี 2567 ว่า บริษัทฯมีแผนจะพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการขยายเครือข่ายร้านสาขา ต่อเนื่องไปตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แหล่งท่องเที่ยว และทำเลที่มีศักยภาพอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยวางแผนลงทุน เปิดร้านสาขาใหม่ในไทยอีก 700 สาขาในปี 2567 และมีเป้าหมายที่จะเปิดร้านใหม่เพิ่มในประเทศกัมพูชา และใน สปป.ลาว ในปีนี้ด้วย ส่วนอัตราการเติบโตของรายได้ ส่วนใหญ่มาจากอัตราการเติบโตของยอดขายจากร้านสาขาใหม่และอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ยจากร้านเดิม รวมถึงยอดขายจากช่องทางอื่นๆ อาทิ 7Delivery และ All Online คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ ระดับของอัตราเงินเฟ้อ ราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ตั้งเป้าขยายอัตรากำไรขั้นต้นให้ได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเน้นการพัฒนาระบบในการคัดสรรสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และผลักดันให้มีสัดส่วนของสินค้าที่กำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น ทั้งจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภค อย่างไรก็ดี คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้ การเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,900-3,500 ล้านบาท โครงการใหม่ บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300-1,400 ล้านบาท.