‘รมช.คลัง’ โว! กลางเวทีประชุม AFF #17 – ย้ำ! ไทยเน้นพัฒนาเศรษฐกิจเป็นมิตร สวล.
“โฆษกคลัง” แจงผลเข้าร่วมประชุม Asian Financial Forum (AFF) ครั้งที่ 17 ที่ฮ่องกงของ “รมช.คลัง – จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” โชว์วิสัยทัศน์แนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจ “ใช้เครื่องมือการเงินเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” พร้อมหารือทั้งเป็นและไม่เป็นทางการกับผู้บริหารระดับสูงหลายประเทศ ย้ำ! หลักคิดไทยเน้นผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของการเข้าถึงต้นทุนทางการเงินที่ยั่งยืนและเป็นธรรมแก่ทุกภาคส่วน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เข้าร่วมการประชุม Asian Financial Forum (AFF) ครั้งที่ 17 (การประชุมฯ) ระหว่างวันที่ 23 – 25 มกราคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จัดโดยรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (Hong Kong Trade Development Council: HKTDC) ซึ่งในปีนี้จัดขึ้น ภายใต้หัวข้อหลัก “Accelerating Transformation: Impact, Inclusion, Innovation” โดยมี ผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมฯ กว่า 2,500 คน
ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Charting the Path to a Shared Tomorrow” โดยกล่าวถึง แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของไทยที่ใช้เครื่องมือทางการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การผลักดันการพัฒนาตลาดทุนสำหรับการเงินสีเขียว รวมทั้งการพัฒนา Green, Social, Sustainability, Sustainability-linked (GSS+) ภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีเงินทุนเพิ่มมากขึ้นในตลาดทุนสำหรับการเงินสีเขียว และการจัดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thailand Taxonomy) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องมือเพื่อจัดหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement’s Goal) ในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถส่งเสริมการเข้าถึงต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้กล่าวว่า AFF เป็นเวทีสำคัญที่ส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถพูดคุยและร่วมกันแก้ปัญหาที่ท้าทายและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีสำหรับคนรุ่นต่อไป อาทิ การหารือในประเด็นที่เป็นผลจากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยช่วงขาขึ้นที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในการก่อภาระทางการเงินที่สูงขึ้น รวมถึงต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการรายย่อยที่สูงขึ้นด้วย ในขณะที่ภาคธุรกิจการเงินกลับมีผลประกอบการที่ได้กำไรสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ต้นทุนทางการเงินดังกล่าวไม่เท่าเทียม และเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระบบมากยิ่งขึ้น ในการนี้ สถาบันการเงินควรให้ความสำคัญกับการกำหนดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก (Bank Spread) ให้เหมาะสม และส่งเสริมการเข้าถึงต้นทุนทางการเงินที่ยั่งยืนและเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน
ในการเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมหารือทวิภาคีกับนายปีเตอร์ แลม (Mr. Peter K N Lam) ประธาน HKTDC ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย เพื่อสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่ออนาคต เช่น การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนา Digital Platform หรือ Digital Content ที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สื่อ และบันเทิง เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังมีโอกาสได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับผู้บริหารระดับสูงของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ (1) นาย Paul Chan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง (2) นาย Ali bin Ahmed Al-Kuwari รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐกาตาร์(3) ดร. Mohamed Maait รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (4) นาย Marko Primorac รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐโครเอเชีย (5) นาย Ibrahim Almubarak ผู้ช่วยรัฐมนตรีการลงทุน ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และ (7) ดร. Muhammad Sulaiman Al Jasser ประธาน Islamic Development Bank ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงข้างต้นได้แสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย และยินดีให้การสนับสนุนการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันต่อไป.