จับตาผลสะเทือน! กับ 6 คำถาม ‘เลขาฯรมว.คลัง ถึงแบงก์ชาติ’
ผลสะเทือนจาก 6 คำถามที่ “เลขาฯ รมว.คลัง” มีต่อแบงก์ชาติ จะลงเอยอย่างไร? ใครจะอยู่…ใครจะไป! หรือลงท้าย “ซูเอี๋ย” หันหาเข้าหากัน กระนั้น ข้อสุดท้ายของคำถามรอบนี้ ถือว่า แรงในระดับถล่มอีกได้เลย กับคำถามที่ว่า…“การขับรถคันเดียวกัน ขาหนึ่งกดคันเร่ง ขาหนึ่งกดเบรก พร้อมกัน รถจะพังหรือไม่ ประเทศจะมีปัญหาหรือไม่”
อุตส่าห์ข้ามขั้วการเมืองมาอยู่ในไลน์ใกล้เคียงกันแล้ว กระนั้น จากแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยเฉพาะ นโยบายที่เคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ พบว่า…มีบางนโยบายที่ดูเหมือนว่าอาจไปกระทบความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ไม่เฉพาะด้านวินัยการเงินการคลัง หากยังไปกระทบต่อ นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ที่เห็นชัดสุด! คงไม่พ้น นโยบายแจกเงินหมื่น “ดิจิทัล วอลเล็ท” ที่วันนี้…ยังไม่รู้ชะตากรรมว่า ที่สุดโครงการที่เคยหาเสียงของพรรคแกนหลักรัฐบาล จะคว่ำหรือไม่?
ล่าสุด ปรากฏการณ์ “เร่งรอยร้าว” ระหว่าง…รัฐบาลเพื่อไทย กับ ธปท. เริ่มเห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อจู่ๆ คนระดับ “เลขาธิการ รมว.คลัง” ดีกรี “รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย” อย่าง…นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ได้ออกมาตั้งคำถามไปยัง ธปท. ปมนโยบายการเงิน ใน 6 ประเด็นร้อนๆ เริ่มจาก….
1.ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ติดลบ 14 เดือนติด สัญญาณอันตรายภาคการผลิตของประเทศ และยอดขายรถเชิงพาณิชย์ ตัววัดสำคัญของการลงทุน ติดลบ 4 ไตรมาสติด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายการเงินที่ผ่านมา เพิ่มต้นทุนการเงินเอกชน เป็นลบต่อการลงทุนในวงกว้างหรือไม่
2.ในขณะที่เอกชนต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นตัว แต่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ (ดูแลโดย ธปท.) ล่าสุด หดตัวราว 0.9% yoy ในขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (ดูแลโดย ก.คลัง) โตราว 3.8% ในช่วงเดียวกัน ใช่หรือไม่ สะท้อนอะไร ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแล ควรมีการปรับในเชิงนโยบายหรือไม่
3.งบประมาณล่าช้า เศรษฐกิจไร้แรงขับ รายจ่ายลงทุนต้นปีงบ 68 เดือน ต.ค. ติดลบ 45% และ พ.ย. ติดลบ 75% yoy และจะเป็นอย่างนี้ทุกเดือนจนงบ 68 บังคับใช้ ท่านเห็นความอันตรายของภาวะนี้ไหม นโยบายการเงินควรมีการปรับตัว เพื่อเข้าช่วยในช่วงที่มาตรการทางการคลังติดขัดนี้ หรือไม่ อย่างไร
4.ประมาณการเศรษฐกิจ ในปี 66 จากต้นปีสู่ปลายปีคลาดเคลื่อนสูง ประเมินความร้อนแรงของเศรษฐกิจสูงเกินจริง นำสู่นโยบายการเงินที่ไม่สะท้อนสภาวการณ์หรือไม่ และภาวะเงินเฟ้อติดลบ หลุดกรอบต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายการเงินนั้น หรือไม่
5.นอกจากตัวเลขมหภาค ต้องมองเศรษฐกิจภาคประชาชนด้วย รายได้ประชาชนโต 7.86% แต่รายจ่ายโต 12.7% ชี้ชัดภาวะ รายจ่ายโตเร็วกว่ารายได้ นั่นคือหนี้สินที่เพิ่มขึ้น แต่นโยบายการเงินที่ผ่านมา ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซ้ำเติมหนี้สิน และความเดือดร้อนของประชาชน หรือไม่
6.นโยบายการคลัง (รัฐบาล) และนโยบายการเงิน (ธปท.) ควรสอดประสานกันหรือไม่ ปัจจุบันรัฐบาลเห็นความจำเป็นในการกดคันเร่งนโยบายการคลัง (ซึ่ง Digital Wallet เป็นหนึ่งในนั้น) แต่นโยบายการเงินยังคงอยู่ในช่วงการกดเบรกหรือไม่ และการขับรถคันเดียวกัน ขาหนึ่งกดคันเร่ง ขาหนึ่งกดเบรก พร้อมกัน รถจะพังหรือไม่ ประเทศจะมีปัญหาหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้ง 6 ประเด็นคำถามที่ “เลขานุการ รมว.คลัง” (ซึ่งตัว รมว.คลัง คือ นายเศรษฐา ทวีสิน มีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยนั้น) มีไปถึง ธปท. ซึ่งหากจะโฟกัส คงไม่พ้น นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. อย่างแน่นอน เนื่องจากก่อนหน้านี้ เคยมีประเด็นความเห็นต่างในเชิงนโยบายกับรัฐบาล และแม้จะมีการหารือร่วมกันมาตลอด แต่ก็ดูเหมือนจะไปด้วยกันได้ไม่ดีสักเท่าใดนัก โดยเฉพาะคำถามข้อที่ 6 ทำนอง “รัฐบาลและกระทรวงการคลัง เหยียบคันเร่งรถยนต์ไปข้างหน้า จู่ๆ ธปท.มาเหยียบเบรก แล้วรถยนต์จะพังไหม? เศรษฐกิจของประเทศจะมีปัญหาหรือไม่?”
น่าสนใจว่า…จากนี้ ความเปลี่ยนในเชิงนโยบาย จากสภาพความเป็น “ปลาคนละน้ำ” ระหว่าง รัฐบาลเพื่อไทย กับ ธปท. ภายใต้การนำของ นายเศรษฐพุฒิ จะลงเอยกันด้วย…ฉากทัศน์ใด? กันแน่!!!.