เลขาฯ ป.ป.ช. มึน! เอกสารเตือน‘ดิจิทัลวอลเล็ต’เสี่ยงผิดกฎหมาย ยันยังไม่ได้สรุป
“นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการป.ป.ช.’โต้เอกสารความเห็นโครงการ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ขัดรัฐ ธรรมนูญ ยันไม่ใช่ความเห็น ป.ป.ช. เผยอยู่ระหว่างรอฟีดแบคคณะกรรมการก่อนลงมติส่งให้รัฐบาล หลังเอกสารข้อเสนอแนะครม.จำนวน8ข้อแพร่ว่อน
วันที่ 16 ม.ค.2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงเอกสารที่มีการเผยแพร่ว่าเป็นความเห็นของ ป.ป.ช. ที่เตือนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่ใช่ความเห็นของ ป.ป.ช. และไม่ทราบว่ามาจากหน่วยงานใด หรือเป็นความเห็นของคณะทำงานที่รวบรวมความเห็นเพื่อเสนอให้คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่หรือไม่
“หากเป็นความเห็นของ ป.ป.ช. จะต้องผ่านมติของกรรมการฯเท่านั้น ตอนนี้คณะกรรมการยังไม่มีความเห็นใดๆเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องรอคณะกรรมการแต่ละคนส่งความเห็นสรุปกลับมา ก่อนจะมีมติและส่งความเห็นกลับมาให้รัฐบาล” นายนิวัติไชย กล่าว
โดยก่อนหน้านี้มีรายงาน ว่า ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือเป็นข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet รวมทั้งสิ้น 8 ข้อ ซึ่งเป็นไปตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้
1.ในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลต้องศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมือง หรือ บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย และบุคคลที่มิได้เป็นคนจน หรือมิใช่กลุ่มเปราะบางที่แท้จริง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนหรือวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้โครงการสามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง
2.ในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล และได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 สำหรับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีความแตกต่างกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาประกอบการพิจารณา มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไรก็ได้ เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
3.จากตัวเลขภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง และตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตของธนาคารโลกและ IMF ปรากฏว่าอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแต่ประการใด เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องพิจารณาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่นการบริโภคภาคเอกชน อัตราการว่างงาน การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น
4.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility)
โดยโครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือ ต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
5.การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 172) พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (มาตรา 53) พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 5 6) รวมถึงกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
6.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องการบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
7.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
8.ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม พร้อมระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ
เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ซึ่งโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน การพิจารณาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง จะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกว่า