บางจาก – บีทีเอส ส่ง จจย.ไฟฟ้า Pinto บริการขนส่งผู้โดยสาร
บางจาก จับมือ บีทีเอส ส่งจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto (ปิ่นโต) สร้างบริการขนส่งด้วยพลังงานสะอาดให้บริการผู้โดยสารบีทีเอสเดินทางด้วยพลังงานไฟฟ้าตลอดเส้นทางแบบ First Mile to Last Mile
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานเปิดตัว “รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto (ปิ่นโต)” โดยบริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด (Smart EV Bike) บริษัทร่วมทุนของบริษัท วินโนหนี้ จำกัด (Winnonie) บริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่มบริษัทบางจาก และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อสร้างบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง หรือ Feeder ที่สะดวก ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ
โดยมีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายกวิน กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน ณ ลานจอดแล้วจร สถานีบีทีเอสหมอชิต และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มาเยี่ยมชมการสาธิตการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในภายหลัง
นายชัยวัฒน์ เผยว่า วินโนหนี้เป็นสตาร์ทอัพภายในองค์กรของบางจากฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ราย ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติจำนวน 120 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล Win-Win Solution ช่วยให้ชีวิตผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเช่าใช้จักรยานยนต์ ประมาณเดือนละ 4,000 บาท หรือ 48,000 บาทต่อคนต่อปี รวม 48 ล้านบาทต่อปี
จากการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด วินโนหนี้วิ่งใช้งานแล้วมากกว่า 42 ล้านกิโลเมตร ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปประมาณ 2 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดการเกิดฝุ่น PM2.5 และมลภาวะทางเสียง
ทั้งนี้ การใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก หากได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าในราคาพิเศษสำหรับสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ การจัดตั้งหน่วยงานกลางแบบ One Stop Service ในการขออนุมัติการติดตั้งมิเตอร์ หรือการพิจารณากฏหมาย เช่น กฎหมายขนส่ง การจดทะเบียนป้ายเหลือง การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กฏหมายเกี่ยวกับวินเพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า
รวมถึงการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและการทำ Carbon Credit Certificate และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ อาทิ การทำประกันภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การให้ใช้พื้นที่หน่วยงานภาครัฐหรือกรุงเทพมหานคร เพื่อทำจุดติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่หรือในอัตราพิเศษ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงทุนวิจัยและพัฒนา ฯลฯ
สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานจากกว่า 1,000 รายและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 120 แห่ง ณ สิ้นปี 2566 เป็นผู้ใช้งาน 60,000 ราย และสถานี 3,000 แห่งในปี 2573