บสย. จัดงาน KM & INNO Day 2023 เปิดช่อง พนง.โชว์ไอเดียสร้างสรรค์ต่อยอดสู่นวัตกรรมองค์กร
“บิ๊ก’บสย.” ร่วมงานใหญ่ KM & INNO Day 2023 เปิดเวทีให้พนักงานโชว์ไอเดียสร้างสรรค์ต่อยอดสู่นวัตกรรมองค์กร เผยรายชื่อ 3 ทีมผลงานโดดเด่นจนได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ ประจำปีนี้
นายสุพัฒน์ เมธีวรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ นางสาวดุจเดือน เหตระกูล ประธานคณะกรรมการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นประธานจัดงาน KM & INNO Day 2023 โดยมี นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ว่าเป็นเวทีให้กับพนักงาน บสย. ได้นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อยกระดับและต่อยอดไปสู่องค์กรนวัตกรรม พร้อมสนับสนุนการจัดการความรู้ เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการและการสร้างนวัตกรรม
ทั้งนี้ เวทีของ KM & INNO Day เป็นส่วนหนึ่งความสำเร็จของ บสย. ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มพนักงาน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ การคิดค้นนวัตกรรมต้องใช้ความรู้จากภายในและภายนอก เรียนรู้จากประสบการณ์ เชื่อมโยงและบูรณาการ โดยใช้กระบวนการ KM เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาหรือสร้างผลลัพธ์เพิ่ม พร้อมเรียนรู้เพื่อต่อยอดผลงาน สำหรับ บสย. ถือเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการพัฒนาและใช้นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนพันธกิจของ บสย. และสร้างให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อสนับสนุน SMEs’ Gateway
นอกจากนี้ พนักงาน บสย. ยังได้เอาค่านิยมมาใช้ในการทำงานและพัฒนาผลงาน โดยเฉพาะในงานนี้เป็นที่รวมตัวของเหล่าฮีโร่ บสย. ตามค่านิยม TCG T – Think Innovatively การพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับผลงาน C – Connectivity เชื่อมโยงและแบ่งปันความรู้ G – Governance ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล และลดความเสี่ยง ภายใต้หลัก TCG Fast & First (FAST รวดเร็ว – FIRST รอบคอบทุกมิติ เป็นที่หนึ่งในใจSMEs เป็นที่หนึ่งในใจของกันและกัน)
สำหรับ 3 ทีมลำดับแรก ที่มีผลงานโดดเด่นได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ ประจำปี 2566 ได้แก่ 1.โครงการ DCU Multifunction จากฝ่ายบริหารหนี้ ที่คิดค้นเครื่องมือช่วยสำหรับคำนวณเงื่อนไขการชำระหนี้ และเครื่องมือดำเนินการงานปรับโครงสร้างหนี้ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์และมืออาชีพ
2.โครงการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในระบบค้ำประกันสินเชื่อ (การยกเลิกการค้ำประกัน) ฝ่ายพิธีการค้ำประกัน ปรับปรุงกระบวนการทำงานบันทึกข้อมูลงานหลังการค้ำประกัน เรื่องยกเลิกการค้ำประกัน เพื่อแก้ไขปัญหา painpoint จากการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพของข้อมูลมากยิ่งขึ้น
3.โครงการกระบวนการพิจารณาอนุมัติงานหลังการค้ำประกันแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Approved) ฝ่ายวิเคราะห์ค้ำประกันสินเชื่อ เป็นการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติงานหลังการค้ำประกัน โดยเปลี่ยนวิธีการทำงานจาก manual มาเป็นการใช้ระบบเข้ามาช่วยในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดข้อผิดพลาดในการทำงาน อีกทั้งยังสร้างความพึงพอใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร.