ครม.อนุมัติแผนการคลังระยะปานกลาง เน้นทำงบขาดดุลระยะสั้นหนุนเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องมีเสถียรภาพ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบฯ 2568 – 2571 ตีกรอบเป้าหมายของแผนการคลังที่เน้นต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลระยะสั้นสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ตั้งเป้าลดขนาดการขาดดุลในระยะปานกลาง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผย ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) (แผนการคลังระยะปานกลางฯ) เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของรัฐ รวมทั้งแผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ตามความที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) ที่กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐมีหน้าที่จัดทำแผนการคลังระยะปานกลางให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ
โดยเป้าหมายของแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้ รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในระยะสั้นเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลในระยะปานกลาง โดยการดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง ภาครัฐยังคง เสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต ภายใต้แนวคิด “Revival” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลัง (Fiscal Discipline) อย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่าง ๆ
ทั้งในส่วนของการพิจารณา จัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง (Fiscal Buffer) ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น (Policy Space) ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป
“หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ.