นายกฯจ่อเรียกเลขาฯคปภ.ถก! ปมประกันภัยโควิดฯ ‘เจอจ่ายจบ’
รมช.คลัง เผย! นายกฯห่วงปมค้างจ่ายสินไหมโควิดฯ “เจอจ่ายจบ” กว่า 6 หมื่นล้านบาท จ่อเรียก เลขาฯคปภ.มาหารือแก้ปมนี้ ยอมรับต่อให้ตั้งงบประมาณให้กับกองทุนประกันวินาศภัยรวดเดียว ครึ่งแสนล้านบาท ก็แก้ปัญหาไม่จบ! ห่วงความไร้ศักยภาพการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความเป็นห่วงถึง ปัญหาความล่าช้าของการค้างจ่ายเงินสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันฯ กรณีประกันภัยโควิด-19 “เจอจ่ายจบ” ที่เปิดให้มีการขายในปี 2563 และมีความล่าช้าจนถึงปัจจุบัน ว่า วันนี้ยังคงมีคำขอรับเงินสินไหมฯค้างอยู่กับกองทุนประกันวินาศภัยราว 6-7 แสนราย คิดเป็นมูลค่าราว 5-6 พันล้านบาท ทั้งนี้ แม้กองทุนประกันวินาศภัยจะทยอยจ่ายเงินสินไหมฯให้กับผู้เอาประกันไปบ้างแล้ว แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อย นอกจากปัญหาเงินกองทุนฯจะมีไม่เพียงพอแล้ว อีกปัญหาสำคัญ คือ ความไม่มีศัยกภาพในการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ที่มีข้อจำกัดมาก โดยเฉพาะกลไกในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
“เรื่องนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายเศรษฐา ทวีสิน) เป็นผู้กำกับดูแล คปภ.โดยตรง อย่างไรก็ตาม ท่านรับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และรู้สึกเป็นกังวลใจ โดยจะเชิญเลขาธิการ คปภ. มาหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้างจ่ายเงินสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันฯ ในกรณี “เจอจ่ายจบ” คาดว่าคงจะเป็นช่วงต้นปีหน้า” รมช.คลัง ระบุและว่า…
แต่ละปีกระทรวงการคลังจัดสรรเงินงบประมาณให้กับกองทุนประกันวินาศภัยราว 3-4 พันล้านบาท เพื่อนำไปใช้การดำเนินงาน ซึ่งนั่นก็ไม่เพียงพอต่อการนำไปชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดฯ “เจอจ่ายจบ” ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะยอมจัดสรรเงินโดยการตั้งงบประมาณเพื่อการนี้ ให้กับกองทุนประกันวินาศภัยรวดเดียว 5 หมื่นล้านบาท ก็ไม่สามารถจ่ายเป็นค่าสินไหมฯให้กับผู้เอาประกันได้อยู่ดี เนื่องจากจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความชอบด้วยกฎหมาย ท่ามกลางช่วงเวลาที่ผ่านมานานถึง 3 ปี และบางบริษัทที่รับประกันฯก็ปิดกิจการไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้นตอของปัญหานี้ อาจเป็นผลมาจาก “นายทะเบียน” ซึ่งก็คือ เลขาธิการ คปภ. ที่อนุญาตให้มีการขายประกันภัยโควิดฯ “เจอจ่ายจบ” จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ทั้งการค้างจ่ายเงินสินไหมฯและทำให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่งต้องปิดตัวลงไป ตรงนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงาน คปภ.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เลขาธิการ คปภ. หรือไม่? นายจุลพันธ์ ตอบว่า หาก “นายทะเบียน” จะมีความผิด ก็ถือเป็นความผิดส่วนบุคคล และไม่อาจบังให้มีการจ่ายเงินค่าสินไหมฯได้ เพราะเป็นคนละประเด็นกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนจะหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนกรณี บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ซึ่งถูก คปภ. สั่งระงับการขายกรมธรรม์เป็นการชั่วคราว เพื่อพิจารณาว่า แนวทางการกำกับดูแลยังมีช่องโหว่หรือไม่ และควรปรับแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตนั้น ล่าสุด แผนการฟื้นฟูกิจการยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ถือหุ้น โดยปัจจุบัน บริษัทฯมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 3 หมื่นล้านบาท และมีสินไหมค้างจ่ายกับผู้ทำประกันกว่า 5 แสนราย เป็นวงเงินกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นลูกหนี้กลุ่มโควิดฯประมาณ 3.5 แสนราย ยอดเงิน 3 หมื่นล้านบาท และยังมีกรมธรรม์บังคับใช้อีก 1.87 ล้านกรมธรรม์ โดยทาง คปภ.ได้เข้าควบคุมการจ่ายเงินของบริษัท และหยุดรับทำประกันใหม่แล้ว
.“หาก บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ไม่สามารถเพิ่มทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น รวมถึงไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงได้ ทางกระทรวงการคลังอาจต้องดำเนินไปตามกฎหมาย โดยยึดไลเซนส์กลับมา ส่วนที่ว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ได้ไลเซนส์หรือไม่นั้น กระทรวงการคลังยังไม่ได้ตัดสินใจอะไร คงต้องรอความชัดเจนจาก บมจ.สินมั่นคงประกันภัยอีกครั้ง” นายจุลพันธ์ ย้ำในที่สุด.