กพร. หารือผู้ถือประทานบัตรโพแทชชัยภูมิ เร่งผลิตปุ๋ยโพแทชตามนโยบายรัฐบาล
กพร. หารือผู้ประกอบการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดชัยภูมิ กำชับเร่งดำเนินการผลิตแร่โพแทชให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมผลักดันประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตแร่โพแทชของอาเซียน ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กพร. หารือกับผู้ประกอบการเหมืองแร่โพแทช เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินโครงการผลิตปุ๋ยโปแตช ดังนั้น กพร. จึงได้ร่วมหารือกับ นางชลิดา พันธ์กระวี และนายสมัย ลี้สกุล ผู้บริหารของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT หนึ่งในผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทช ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดโครงการเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566
สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการเหมืองแร่โพแทชของ APOT ที่จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมลงทุน ประกอบกับบริษัทฯ มีภาระหนี้เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐที่ต้องชำระรวมค่าปรับ ผิดนัดชำระคิดเป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้เงินผลประโยชน์พิเศษดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้โดยให้บริษัทฯ ผ่อนชำระด้วยผลผลิตแร่โพแทชของโครงการ
ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ กพร. จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดทำสัญญาฉบับใหม่ และให้ชำระด้วยผลผลิตแร่โพแทชของโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 8 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีผลผลิต โดยให้บริษัทฯ ส่งมอบแร่ให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ บริษัทฯ เสนอว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ภายในไม่เกิน 5 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2571 หากไม่สามารถผลิตแร่โพแทชได้จะยินยอมชำระหนี้เป็นเงินตามจำนวนหนี้ที่ผิดนัดทั้งหมดพร้อมค่าปรับร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงจนถึงวันที่ชำระจริง
“การหารือร่วมกันระหว่าง กพร. กับ APOT ในครั้งนี้เป็นการเร่งรัดการดำเนินงานและร่วมกันหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะมีการขับเคลื่อนโครงการต่อไปเพื่อให้เกิดการผลิตแร่โพแทชให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะนอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบแร่โพแทชซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิตปุ๋ยแล้ว ยังช่วยให้ต้นทุนในการผลิตปุ๋ยภายในประเทศลดลง และเกษตรกรไทยจะได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่ง กพร. พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแร่โพแทชของอาเซียนต่อไป” นายอดิทัตฯ กล่าว