นายกฯ พบปะ นักลงทุนไทย-ต่างชาติ ในงาน FIC 2023
นายกฯ พบปะนักลงทุนไทย-ต่างชาติ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน FIC 2023 หวังสร้างเครือข่ายธุรกิจ ดึงเม็ดเงินลงทุน ทึ่จัดขึ้นโดย ส.อ.ท.
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Reformation of Thai Economy Amidst Polycrisis: การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน” ในงาน Foreign Industrial Club (FIC) 2023: Reforming Thailand จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า
“ท่ามกลางความท้าทายระดับโลก เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยจำเป็นต้องรีบเร่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกำหนดทิศทางที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมทั้งจำเป็นต้องส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและสร้างความได้เปรียบ โดยบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูง”
เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของโลก รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้ายกระดับภาคเกษตรกรรมไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง การเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและเกิดความยั่งยืน การเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน การดำเนินยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นประตูยุทธศาสตร์สำคัญด้านการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ในภูมิภาค การเร่งพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเน้นผลักดันนโยบายและมาตรการการลงทุน การเตรียมความพร้อมของรัฐเพื่อรองรับการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการที่เป็นประโยชน์เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุน ตลอดจนการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรม
“เราพร้อมเปิดรับและร่วมมือกับภาคเอกชนและนักลงทุน ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจใหม่โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) อุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างสรรค์ และบริการที่มีมูลค่าสูง” ฯพณฯ เศรษฐา กล่าว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้มุ่งเน้นที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยมีการแบ่งอุตสาหกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 First Industries คือ อุตสาหกรรมเดิมที่ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Disruption Technology) ทำให้ต้องเร่งส่งเสริมเพื่อให้เกิดปรับตัวให้สามารถรักษาศักยภาพของอุตสาหกรรม และกลุ่มที่ 2 Next-GEN Industries อุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology) เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมดิจิทัล
2) การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วย BCG Model ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มีการใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) และเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) ในระบบการผลิตและ 3) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์ของโลกที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย และกรอบการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย”
ด้วยนโยบายดังกล่าว ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าพัฒนา Supply Chain โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงด้านแรงงาน และบุคลากรที่มีทักษะสูงที่เพียงพอ เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นหมุดหมายปลายทางที่โดดเด่น พร้อมรองรับการย้ายฐานการผลิต และการลงทุนของต่างชาติ
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการให้สิทธิประโยชน์จากการตั้งฐานการผลิตในไทย ส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อไทย เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และปัจจุบันรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการหาตลาดใหม่ๆ เปิดโอกาสในการค้า โดยการเร่งผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา และเปิดเจรจา FTA ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทย
“ภายใต้นโยบาย ONE FTI ของ ส.อ.ท. ที่เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในประเทศไทย จึงได้จัดตั้ง Foreign Industrial Club (FIC) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้ภาคเอกชน ภาครัฐ คณะทูต และนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทย สามารถพบปะหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำธุรกิจและเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนและเศรษฐกิจของไทย โดยคาดหวังว่าเวที FIC แห่งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การลงทุนใหม่ๆ และขยายการลงทุนเดิมของภาคอุตสาหกรรมไทย”
ด้านนายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ ประธานจัดงาน Foreign Industrial Club และรองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า “เส้นทางของประเทศไทยสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หากมีการบูรณาการการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ นโยบายที่มีวิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศ และความมุ่งมั่นของประเทศในการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นหมุดหมายที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนและนักธุรกิจต่างประเทศ”
การลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างมาก โดยนำเงินทุนที่จำเป็นเข้าสู่ภาคการผลิต ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน การพัฒนาทักษะ และการแบ่งปันความรู้ระหว่างแรงงานไทย ซึ่งความร่วมมือระหว่างนักลงทุนต่างชาติและในประเทศได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน และจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทย อีกทั้งการผสมผสานระหว่างความเชี่ยวชาญระดับโลกและระดับประเทศ ได้ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมและการผลิต
“เรามีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของประเทศไทย การจัดตั้ง Foreign Industrial Club หรือ FIC นี้ได้เปิดโอกาสให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักลงทุนต่างชาติ ได้หารือเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน เพื่อสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ FIC จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และอำนวยความสะดวกในประสานงานระหว่างหน่วยงานไทยและต่างประเทศ” นายวิเชาวน์ กล่าว