‘คลัง-ออมสิน’ เดินหน้าแก้หนี้คนไทยผ่าน AMC หวังฉุดหนี้ครัวเรือนลง – คาดเริ่มต้นปีหน้า
แบงก์ออมสินประสานเสียงกระทรวงการคลัง พร้อมเดินหน้าจัดตั้ง AMC แก้ไขหนี้สินภาคประชาชนของทุกสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงหนี้สินระดับไมโครเอสเอ็มอีถึงเอสเอ็มอีระดับกลาง คาดเดินเครื่องได้อย่างช้าต้นปีหน้า หวังฉุดหนี้ภาคครัวเรือนซึ่งเป็นภาพใหญ่ของหนี้สินภาคประชาชนลงเหลือร้อยละ 80 ของจีดีพี ด้าน “ผอ.วิทัย” ประกาศไม่กำหนดเพดานวงเงินแก้หนี้เสียผ่าน AMC ย้ำ! อยู่ระหว่างหาพันธมิตรขับเคลื่อน เตรียมส่งต้นแบบ “โมเดล” ให้รมช.คลังพิจารณาในเดือนหน้า พร้อมนำร่องขายหนี้เสียให้ AMC ในราคา 3-5%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง การดำเนินงานมาตรการแก้ไขหนี้ตามนโยบายรัฐบาลผ่านธนาคารออมสิน โดยเฉพาะการรวมหนี้สินของภาคประชาชนและภาคธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีขนาดกลางลงมาไว้ในAMC หรือ “หน่วยงานรับผิดชอบดูแลการบริหารสินทรัพย์” เป็นการเฉพาะ โดยนำโมเดลการแก้ไขปัญหาหนี้สินของธนาคารออมสิน มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายธนาคารออมสินเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้ธนาคาร ทั้งในส่วนของหนี้ปกติที่ยังมีการผ่อนส่ง โดยให้ถือว่าเป็นลูกหนี้ดีที่จะต้องได้รับการดูแล และปรับเกณฑ์การชำระจากเดิมที่การชำระหนี้ในแต่ละเดือนจะไปหักที่ดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ ก็จะเปลี่ยนไปหักเงินต้นให้มากถึงร้อยละ 70-80 ที่เหลือจึงไปหักในส่วนของดอกเบี้ย ซึ่งนั้นจะทำให้เงินต้นของลูกหนี้แต่ละรายลดลงอย่างรวดเร็ว และจะได้พ้นสภาพความเป็นหนี้สินได้เร็วขึ้น
ในส่วนของหนี้ที่มีปัญหา (เอ็นพีแอล) โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยสินเชื่อธนาคารออมสินนั้น ธนาคารฯได้จัดโครงการคาราวานช่วยเหลือลูกหนี้ตามพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ด้วยการให้พักชำระเงินต้น และให้ทางเลือกจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ ร้อยละ 25-100 รวมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะเอ็นพีแอล อยู่ก่อนวันที่ 30 ธ.ค.2565 โดยธนาคารฯจะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย…ไม่ฟ้องดำเนินคดี ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาดและไม่ฟ้องล้มละลาย (แล้วแต่กรณี) โดยให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไขธนาคาร
นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินในส่วนของธนาคารออมสินแล้ว ตนยังมอบหมายให้ธนาคารออมสินนำโมเดลการแก้ไขหนี้สินดังกล่าวไปใช้ผ่านการรวมหนี้ของภาคประชาชนและบางส่วนของภาคธุรกิจ โดยการรับซื้อหนี้เสียของธนาคารออมสิน รวมถึงหนี้เสียจากธนาคารของรัฐรายอื่นๆ แล้วอาจเลยไปถึงหนี้เสียของแบงก์พาณิชย์ ทั้งในส่วนของหนี้สินประชาชน และหนี้สินของเอสเอ็มอีขนาดกลางจนถึงระดับไมโครเอสเอ็มอี หากธนาคารเหล่านั้นประสงค์จะเข้าร่วมโครงการนี้…
“ตอนนี้…รอให้ออมสินได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้ตัวเองเสียก่อน เพื่อใช้เป็นโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชนจากสถาบันการเงินของรัฐอื่นๆ ในรูปแบบการจัดตั้ง AMC ขึ้นมา”
เขาย้ำว่า…ทุกธนาคารของรัฐสามารถจะขายหนี้เอ็นพีแอลให้กับธนาคารออมสินได้ในราคาตลาด โดยไม่มีปัญหาเรื่องการขาดทุนจากการดำเนินงาน เนื่องจากธนาคารของรัฐทุกแห่งได้ตั้งสำรองหนี้เสียเต็มจำนวนไปแล้วก่อนหน้านี้
ดังนั้น การขายหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล จึงถือเป็น “รายได้ใหม่” ของธนาคารนั้นๆ โดยคาดว่า…การดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ผ่านช่องทาง AMC จะดำเนินการได้ภายในสิ้นปีนี้หรืออย่างช้างก็ราวต้นปีหน้า ทั้งนี้ หากหนี้สินภาคประชาชนลดลง สิ่งนี้…ก็จะไปลดหนี้สินภาคครัวเรือนในภาพรวม ตามที่รัฐบาลคาดหวังจะเห็นลดจนเหลืออยู่ในระดับร้อยละ 80 จากปัจจุบันที่สูงกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี
ขณะที่ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเสริมว่า ธนาคารฯจะเร่งจัดทำข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน เพื่อนำไปเป็นโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนในภาพรวมผ่านกลไก AMC ตามนโยบายของรัฐบาลและรมช.คลังโดยเร็ว และจะไม่กำหนดเพดานงบประมาณในการจัดทำโครงการนี้แต่อย่างใด คาดว่าภายในเดือนหน้าจะเสนอแนวทางดังกล่าวให้นายกฤษฎาได้พิจารณาเงื่อนไขของธนาคารออมสินอย่างแน่นอน
สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนผ่าน AMC นั้น ธนาคารออมสินจะนำร่องขายหนี้สินเอ็นพีแอลของธนาคารฯให้กับหน่วยงาน AMC ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลหนี้สินในกลุ่มนี้ โดยขณะนี้ ธนาคารฯอยู่ระหว่างการพิจารณาหาพันธมิตรที่จะมาเข้าร่วมดำเนินการ ทั้งในแง่ของสัดส่วนการร่วมทุน เงื่อนไขการดำเนินงาน และอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันว่า ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเอ็นพีแอล ทั้งในส่วนของธนาคารออมสินและหนี้ที่รับซื้อมาจากธนาคารของรัฐอื่นๆ จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ มากกว่าจะเน้นเรื่องกำไร ขอเพียงแค่ให้องค์กรที่ตั้งขึ้นมาใหม่สามารถอยู่ได้เท่านั้น อีกทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ยังช่วยให้ลูกหนี้ไม่ต้องถูกขึ้นแบล็กลิสต์ “เครดิต เรทติ้ง” เป็นเวลา 5 + 3 ปีอีกด้วย ซึ่งจะตรงกับแนวทางการดำเนินงานของธนาคารที่มุ่งเน้นความเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” นั่นเอง.