ก.อุตฯ บุกตรวจโรงงาน“สมุทรสาคร” ไม่รายงานข้อมูลการประกอบกิจการ

กระทรวงอุตสาหกรรม ลุย ตรวจโรงงานไม่รายงานข้อมูลการประกอบกิจการผ่านระบบฯที่ สมุทรสาคร แห่งแรก พบกระทำความผิดจริงไม่รายงานกากอุตสาหกรรม เตรียมใช้กฎหมายสั่งปรับทันที จ่อเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ หากส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่

นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นไปตามปฏิบัติการ “ตรวจสุดซอย” ที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการทั่วประเทศ กรณีโรงงานอุตสาหกรรมไม่รายงานการประกอบกิจการ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติทุกโรงงาน โดยจะใช้ทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเข้าตรวจสอบโรงงานอย่างละเอียดเข้มข้นภายใต้กฎหมายของกระทรวงฯ ทั้ง 4 ด้าน คือ 1) ดิน-กำกับดูแลโรงงานเพื่อควบคุมการดำเนินการเรื่องกากอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการลักลอบทิ้ง 2) น้ำ-กำกับการระบายน้ำออกนอกบริเวณโรงงานเพื่อดูแลแม่น้ำลำคลองและพื้นที่โดยรอบ

3) ลม-กำกับดูแลการปล่อยมลพิษทางอากาศของโรงงาน การลักลอบเผาอ้อย เพื่อลดปัญนนหาฝุ่น PM 2.5 และ4) ไฟ-กำกับดูแลความปลอดภัยต่าง ๆ ในโรงงาน ตรวจสอบอุปกรณ์ภายในโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานป้องกันเหตุเพลิงไหม้ ทั้งนี้ หากพบการกระทำความผิด มีการประกอบการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญกับประชาชน หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการตามกฎหมายของการประกอบกิจการและลงโทษอย่างจริงจังทันที

รวมทั้งสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงาน หรือถูกระงับการประกอบกิจการตามกฎหมายมาตรา 37 และมาตรา 39 พ.ร.บ.โรงงาน และหากยังพบปัญหาการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น ๆ จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บีโอไอ เป็นต้น เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวพิจารณาดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป

สำหรับการลงตรวจโรงงานฯ ในจังหวัดสมุทรสาครครั้งนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กอ.รมน. ศูนย์ดำรงธรรม และเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่น ทำการลงตรวจโรงงานทั้งหมด 2 แห่ง แบบไม่มีการแจ้งให้โรงงานรับทราบล่วงหน้า โดยโรงงานแห่งแรกประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายลวดเหล็ก ซึ่งไม่ได้มีการรายงานข้อมูลมาที่กระทรวงอุตสาหกรรมติดต่อกัน 2 ปี จากการตรวจสอบพบว่า โรงงานมีกากอุตสาหกรรม คือ ฝุ่นเหล็กที่หลงเหลือจากกระบวนผลิตต้องทิ้งจำนวนเดือนละกว่า 10 ตัน โดยจะมีบริษัทรับจ้างกำจัดกากอุตสาหกรรมเข้ามารับซื้อถึงที่ แต่ก็ไม่ทราบว่านำไปกำจัดเป็นที่ใดและไม่มีการรายงานมายังกระทรวงฯ

ดังนั้น จึงต้องมีการสืบหาข้อมูลของผู้รับซื้อต่อไปว่ามีการกำจัดกากอย่างถูกต้องและถูกกฎหมายหรือไม่ ขณะที่ในด้านระบบความปลอดภัย พบว่ายังขาดมาตรการและอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุจากการขนย้ายวัสดุในที่สูงและหน้ากากป้องกันฝุ่นเหล็กที่เกิดจากกระบวนการผลิต อีกทั้งยังพบว่าโรงงานมีการสร้างส่วนต่อเติมขยายโรงงานที่ยังไม่ได้มีการแจ้งมายังกระทรวงฯ ให้ทราบอีกด้วย ซึ่งต้องมีการตรวจสอบแบบผังโรงงานว่าตรงตามที่ได้แจ้งไว้หรือไม่ หากพบว่าไม่เป็นไปตามแบบก็จะใช้กฎหมายดำเนินการต่อไป

ส่วนโรงงานที่ 2 เป็นโรงงานประกอบกิจการผลิตไส้ที่นอน PE FOAM โดยใน 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีการรายงานข้อมูลการประกอบกิจการ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า โรงงานฯ มีกากอุตสาหกรรม คือ เศษพลาสติกจำนวนมากซึ่งบริษัทได้ให้ผู้รับซื้อนำไปกำจัด แต่ยังไม่มีข้อมูลผู้ซื้อที่ชัดเจนว่ามีการกำจัดอย่างไร จึงต้องมีการตรวจสอบข้อมูลต่อไป ด้านสภาพโรงงานพบว่ามีการเพิ่มเครื่องจักรโดยไม่ได้มีการแจ้งข้อมูลเพิ่มเติม มีการวางวัตถุดิบไม่เป็นระเบียบ มีการกองสุมกันของเศษวัสดุไวไฟเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่ไม่เพียงพอ ทำให้อาจเกิดอัคคีภัยได้โดยง่าย ขณะที่แรงงานก็ไม่ได้มีเครื่องป้องกันอันตรายจากฝุ่นขนาดเล็กในกระบวนการผลิตที่ดีพอ อาจส่งผลต่อสุขภาพของแรงงานได้ในอนาคต ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เตรียมสรุปเป็นรายงานทั้งหมด เพื่อแจ้งกลับไปยังบริษัทให้ดำเนินการตามระเบียบและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

“การตรวจโรงงานในวันนี้ แม้จะยังไม่พบปัญหาที่ร้ายแรง แต่ก็ทำให้ผู้ประกอบการได้แก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงตามกฎหมายของกระทรวงฯ ให้เป็นไปอย่างถูกที่ถูกทาง และยังเป็นการเฝ้าระวังการเกิดเหตุที่ไม่สมควรได้ด้วย ซึ่งกระทรวงฯ จะดำเนินการติดตามแก้ไขอย่างใกล้ชิด หากพบการกระทำความผิดก็จะใช้ข้อกฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจัง ทั้งเปรียบเทียบปรับ ไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงฯ ได้กำชับให้โรงงานทั่วประเทศ ต้องรายงานข้อมูลการประกอบกิจการ ผ่านระบบการลงทะเบียนลูกค้า กระทรวงอุตสาหกรรม (i-Industry) และระบบการรายงานข้อมูลกลาง (iSingleForm) ภายในวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ก็พบว่ายังมีโรงงานไม่รายงานอีกกว่า 10% จากจำนวนโรงงานทั้งหมดกว่า 65,000 แห่ง ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ก็จะเร่งติดตามตรวจโรงงานอย่างเคร่งครัดทั่วต่อไป” นายวิษณุ กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password