กฟผ. – สถาบันอาหาร ร่วมผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นสู่ตลาดสากล
กฟผ. ร่วมกับ สถาบันอาหาร ต่อยอดวิสาหกิจชุมชน ผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารจากท้องถิ่นชุมชนรอบพื้นที่ กฟผ. สู่การยอมรับทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเป้าหมายชุมชนมีรายได้เพิ่มและเติบโตอย่างยั่งยืน
นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการพัฒนาขีดความสามารถของกิจการชุมชน กฟผ. เพื่อสร้างความได้เปรียบของผลิตภัณฑ์ชุมชนพร้อมแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหาร ระยะที่ 2 โดยมีนายสุชีพ มีถม ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ. และนางสาวนุจรินทร์ เกตุนิล ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอาหาร สถาบันอาหาร
นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. เปิดเผยว่า เมื่อปี 2565 กฟผ. ได้มีแผนงานความร่วมมือกับอุตสาหกรรมมูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม นำวัตถุดิบพื้นถิ่นและวัตถุดิบเหลือใช้ มาต่อยอดด้วยนวัตกรรมอาหาร ภายใต้การผลิตอาหารปลอดภัย และปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม จนเกิดเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ “ขายได้” เป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารได้ ซึ่งจากการดำเนินงานปีที่ผ่านมาได้เพิ่มยอดขายได้มากว่าร้อยละ 30 อีกทั้งช่วยลดต้นทุน ลดของเสีย และลดขยะ ตามแนวทางโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน (BCG) ผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารจากท้องถิ่นชุมชน สู่ตลาดสากล ให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาในระยะที่ 2 เน้นสินค้าและบริการด้านสุขภาพมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น อาทิ อาหารฟังก์ชัน, อาหารจากพืช Plant based food, อาหารเฉพาะบุคคล เช่น วีแกน คีโต, อาหารและเครื่องดื่ม Low sugar, Low Fat และ Low Sodium รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสมุนไพร และสารสกัดจากธรรมชาติ
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนสู่การเติบโตแบบยั่งยืน สถาบันอาหารมีแนวทางสร้างคุณค่า 4 ด้าน ประกอบด้วย TRUST คือ การสร้างความเชื่อมั่นในด้าน Food Safety และ Food Quality VALUE คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มตลอด Supply Chain ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม POWER คือ การพัฒนาศักยภาพและสร้างองค์ความรู้แก่ชุมชนบริเวณรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า เขต และเขื่อนของ กฟผ. และผู้เกี่ยวข้อง และ SPEED คือ การส่งเสริมให้ชุมชนบริเวณรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า เขต เขื่อนของ กฟผ. และผู้สนใจเข้าถึงข้อมูลและตลาดเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว อันจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน