ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 1 ปี
ส.อ.ท.เผย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลง ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และต่ำสุดในรอบ 1 ปี เสนอตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วยผู่ประกอบการ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลง จาก 92.3 ในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และต่ำสุดในรอบ 1 ปี เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ
ทั้งนี้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น
ขณะที่สภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลผสม แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยสนันสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.5 ปรับตัวลดลง จาก 100.2 ในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและไม่แน่นอน กระทบต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566 รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังกังวลนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต อาทิ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงาน
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศทดแทนอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัว อาทิ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มาตรการเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เป็นต้น 2.เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันและก๊าซ การสนับสนุนสินค้า SMEs เป็นต้น
3.เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี รวมถึงกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (Spread) ให้ส่วนต่างลดลง เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ 4.เร่งรัดโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แล้ว ให้ดำเนินการลงทุนตามที่ได้รับอนุมัติ และจัดกิจกรรม Roadshow เชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่ย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีน