ยุทธศาสตร์แห่งโอกาส ตอน : พุ่งเป้า ‘นโยบายท่องเที่ยว’ – ยืดอายุรัฐบาลเศรษฐา

หนึ่งในนโยบายเร่งด่วน! นอกเหนือจากการเติมเงิน 1 หมื่นผ่าน “ดิจิทัล วอลเลต” เพื่อหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย คงไม่พ้น “เครื่องยนต์เศรษฐกิจ” ตัวสำคัญอย่าง…ภาคการท่องเที่ยว! เห็นได้ชัดว่า… “นายกฯเศรษฐา” ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ส่วนหนึ่งคงเพราะความสำเร็จของอุตสาหกรรมนี้ ไม่เพียงจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย หากยังอาจช่วยยืดอายุของรัฐบาลชุดนี้อีกด้วย

“รัฐบาลเศรษฐา” ภายใต้การนำของ คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะนำ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าร่วมแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ในห้วง 2 วันจากนี้ (11-12 ก.ย.) กับแผนการดำเนินงาน 3 ระยะ บนเป้าหมาย…เพื่อแก้ปัญหา สร้างความพร้อม และวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน

กำหนดกรอบนโยบายการบริหารและพัฒนาประเทศ ตามกรอบความเร่งด่วน แยกเป็น…ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

กรอบระยะสั้น จะเร่งรัดจัดการในทันที ด้วยเหตุผลคือ…รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกาย ให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว

ส่วน กรอบระยะกลางและระยะยาว นั้น รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับประชาชนทุกคน

มีหลายนโยบายในกรอบระยะสั้น ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น…นโยบายการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet ที่รัฐบาลหวังจะใช้เป็นตัวจุดชนวนและกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง รวมถึงนโยบายใน การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน, การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน, การผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

ส่วน การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ดูจะเป็นเรื่องท้ายๆ หากต้องทำ เพราะเรื่องนี้…ยังมีปมความเสี่ยงต่อความอยู่รอดของรัฐบาล? ไหนจะ แรงต้านจาก 250 ส.ว. แล้วยังจะมี กระแสความไม่เห็นด้วยจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ช่วยเหลือทางอ้อมผ่าน 250 ส.ว. ระหว่าง การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา…หากไม่แล้ว คงเป็นเรื่องยากที่พรรคการเมืองฝั่งนี้ จะได้กลับมาร่วมรัฐบาลอย่างที่เป็นอยู่

แต่ที่ผมสนใจ คือ นโยบายที่ว่าด้วยการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ต้องไม่ลืมว่า…นับจากวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา มี เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ตัว พอจะใช้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นอกจาก การลงทุนของภาครัฐ ก็คือ…เครื่องยนต์ด้านการท่องเที่ยว นี่แหละ

นับเป็นความโชคดีที่ “อัตลักษณ์” ในมิติต่างๆ ได้หล่อหลอมและเพาะบ่มความเป็นไทย จนสามารถสร้างกระแส “ไทย-ซอฟท์ เพาเวอร์” ขึ้นมา กระทั่ง เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั่วโลก…

นิสัยใจคอของคนไทย ยิ้มแย้มแจ่มใจใส…จากภายในสู่ภายนอก เปิดสัมผัสรอยยิ้ม “ยิ้มสยาม” ให้โลกได้รับรู้…คอยต้อนรับขับสู้ ช่วยเหลือ ดูแล ไม่แยกแยะ…สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม แตกต่างไปจากสังคมมนุษย์โลกในพื้นที่อื่นๆ

ความหลากหลายในเชิงวัฒนธรรม, สิ่งปลูกสร้างที่ผสมผสานความเก่า-ใหม่ “วัด-วัง-อาคารสูงทันสมัย”,  กิจกรรมพิเศษจากวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม, ความสะดวกสบายในการเดินทาง โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้า, อาหารการกินที่หลากหลาย มีให้เลือกซื้อหาในระดับราคาต่างๆ ทั่วทุกหัวมุมเมือง ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ในภัตตาคารเลิศหรู จนถึง “สตรีทฟู้ด” ข้างถนน

ทั้งหมดคือ ความลงตัวด้านการท่องเที่ยวของไทย ทำให้ นักท่องเที่ยวต่างชาติ จากภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น…อเมริกา “เหนือกลางใต้” ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกไกล ไม่เว้นแม้กระทั่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังไหล…เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศไทย

จำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 25 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านล้านบาท คือ เป้าหมายที่รัฐบาล และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดหวังจะได้เห็นในปีนี้ และจะเพิ่มมากกว่านี้…ในปีต่อๆ ไป

“รัฐบาลเศรษฐา” มองเห็นโอกาสในสถานการณ์นี้ ก็ไม่น่าแปลกใจ…เหตุใด? คุณเศรษฐา จึงกำหนดให้ การผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เป็น 1 ใน 5 ของนโยบายเร่งด่วน! ในรอบแรกนี้

หากยังจำกันได้ เรื่องการท่องเที่ยว…ดูจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ คุณเศรษฐา ได้ดำเนินการเคลื่อนไหว…มาโดยตลอด ก่อนหน้าจะมี พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์ของ “ในหลวง – ราชินี” ด้วยซ้ำ

เริ่มจากการยก “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล ในฟาก พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ “ภูเก็ต-พังงา” หารือร่วมกับ “นักธุรกิจท้องถิ่น” หวังปลุกการท่องเที่ยวให้มีความหลาก ในพื้นที่ฝั่งอันดามัน เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมาโดยเฉพาะ สไตล์ “Wellness เชิงสุขภาพ”

ถัดมาอีก 3 วัน…ได้เข้าหารือร่วมกับ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และ 8 ผู้ประกอบการสายการบิน เพื่อวางกรอบดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งนับเป็น “ฤดูท่องเที่ยว” สำคัญของไทย

จะมี นักท่องเที่ยวต่างชาติ จากทั่วทุกมุมโลก ที่ “จองตั๋ว” ล่วงหน้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทย เผื่อหวังสัมผัสอากาศเย็นแบบไทยๆ และบรรยากาศ การลอยกระทง รวมถึง “ลอยโคมไฟ” บนท้องฟ้าในหลายท้องถิ่นภาคเหนือ ที่มีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง

ย้อนกลับไปดู เนื้อหาที่บรรจุอยู่เอกสารของการแถลงนโยบายในครั้งนี้ โดยเฉพาะ นโยบายการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

เหตุผลที่ “รัฐบาลเศรษฐา” ให้ไว้คือ…“เพราะการท่องเที่ยวจะเป็น กุญแจดอกแรกในการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก เราตั้งเป้าว่าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยว ด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การจัดทำ Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วม งานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และเพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี รัฐบาลจะร่วมกับภาคธุรกิจในทุกภาคส่วนเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแสดงต่างๆ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันการพัฒนาการบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการ ที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยจะ ปรับปรุงสนามบินและจัดการเที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มปริมาณเที่ยวบินให้สามารถนำนักท่องเที่ยวมาสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และปราบปรามการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ซึ่งการรักษาความปลอดภัยจะสร้างความมั่นใจ และความประทับใจกับประเทศไทยในระยะยาว”

สำหรับผมแล้ว สถานการณ์การณ์นี้…ถือเป็น “ยุทธศาสตร์แห่งโอกาส” โดยแท้!

เหมือนที่เคยบอก แม้ไม่ชอบ “ที่มา” ของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนนี้ แต่หากมองด้วยใจเป็น “กลาง” ท่ามกลางวิกฤต…ก็ยังมีโอกาสสอดแทรกอยู่ ดังนั้น การได้นายกรัฐมนตรีที่…เข้าใจและมองเห็นโอกาสของประเทศ ของนักธุรกิจและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงภาคแรงงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านในพื้นที่ ก็พอจะนับเป็นความโชคดีได้บ้าง

อย่างน้อย…ความเป็นนักธุรกิจ (อสังหาริมทรัพย์) ระดับประเทศ ก็น่าจะนำมาปรับใช้กับ การบริหารราชการแผ่นดิน ที่มี…รัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล และข้าราชการประจำ อีกเป็นจำนวนมาก คอยประสานงาน ช่วยเหลือ รับนโยบาย ฯลฯ รวมถึงมีระบบรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของฝ่านค้าน…คอยทำหน้าที่ “ตรวจสอบ” คู่ขนานกันไป…ได้บ้าง

เข้าใจว่า…“รัฐบาลเศรษฐา” คงจะไม่เหลือเวลาให้ “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” หรือต้อง “ศึกษางาน”กันอีกแล้ว หลังเสร็จภารกิจ…แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ก็ได้เวลา “เดินหน้าประเทศไทย” ได้เลย

อะไรที่เคย…สัญญาและรับปากเป็นมั่นเหมาะกับประชาชน กับรัฐสภา ก็อย่าหลงลืม…เสมือนเป็นแค่ “แคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง” ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ใครที่พูดอย่างนี้…สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้!

เห็นด้วยอย่างยิ่ง…ที่ “รัฐบาลเศรษฐา” จะพุ่งเป้า…หันมาเน้นส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพราะโอกาสแห่งความสำเร็จในครั้งนี้…ก็น่าจะช่วย ยืดอายุของรัฐบาล ให้ยาวยิ่งขึ้นไปได้อีก…ผมว่านะ!!!.

สุเมธ จันสุตะ

email : schansuta@gmail.com

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password