“ก.อุตฯ” สั่งโรงงานทั่วประเทศ รายงานข้อมูลอุตฯ ภายใน 31 สิงหาคมนี้

ก.อุตสาหกรรม เตือนกว่า 6,000 โรงงานทั่วประเทศ เร่งรายงานข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภายใน 31 สิงหาคมนี้ หากเกินกำหนดเจอโทษปรับ จ่อเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ โรงงานที่ไม่สามารถติดต่อได้นานเกิน 2 ปี

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจำนวน 65,682 ราย ทั่วประเทศ ต้องมีหน้าที่รายงานข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรมตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด อาทิ ข้อมูลกิจการ วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บสิ่งปฏิกูล ข้อมูลสารเคมีอันตรายที่มีการเก็บหรือการใช้ในการประกอบกิจการ โดยต้องรายงานผ่านระบบการลงทะเบียนลูกค้าของกระทรวงอุตสาหกรรม (i-Industry) และระบบการรายงานข้อมูลกลาง (iSingleForm) ภายในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากเลยระยะเวลาจะมีความผิดและมีโทษปรับตามกฎหมายโรงงาน

โดยล่าสุด พบว่า มีโรงงานอีกกว่า 6,000 ราย ที่ยังไม่รายงานข้อมูลตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเชื่อได้ว่าอาจมีความผิดปกติของการประกอบการที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานอย่างเข้มข้นครบทุกมิติ ภายใต้กฎหมายของกระทรวงฯ ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ 1) ดิน-กำกับดูแลโรงงานเพื่อควบคุมการดำเนินการเรื่องกากอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการลักลอบทิ้ง 2) น้ำ-กำกับการระบายน้ำออกนอกบริเวณโรงงานเพื่อดูแลแม่น้ำลำคลองและพื้นที่โดยรอบ 3) ลม-กำกับดูแลการปล่อยมลพิษทางอากาศของโรงงาน การลักลอบเผาอ้อย เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และ 4) ไฟ-กำกับดูแลความปลอดภัยต่าง ๆ ในโรงงาน ตรวจสอบอุปกรณ์ภายในโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานป้องกันเหตุเพลิงไหม้

โดยหากพบการกระทำความผิด มีการประกอบการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญกับประชาชน หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการตามกฎหมายของการประกอบกิจการและลงโทษอย่างจริงจังทันที
ทั้งการสั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไขโรงงาน หรือการถูกระงับการประกอบกิจการตามกฎหมายมาตรา 37 และมาตรา 39 พ.ร.บ.โรงงาน ส่วนโรงงานที่ไม่สามารถติดต่อได้นานเกินกว่า 2 ปี จะพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานต่อไป

ดร.ณัฐพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรายงานข้อมูลการประกอบการจะเป็นการติดตามการประกอบการที่จะช่วยลดความถี่ในการเข้าตรวจกิจการที่มีปริมาณมากได้ รวมทั้งยังเกิดความเชื่อมั่นในการประกอบการของโรงงาน ว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขและข้อกฎหมายการประกอบกิจการอย่างถูกต้องครบถ้วน นอกจากนี้ ข้อมูลที่ผู้ประกอบการได้รายงานผ่านระบบนั้น ยังสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ดัชนีอุตสาหกรรม (MPI) เพื่อออกแบบนโยบายและสร้างกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศได้อย่างตรงประเด็น การสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการลงทุนในประเทศ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์และโครงการส่งเสริมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของโรงงาน

ขณะเดียวกัน มาตรการกำกับดูแลโรงงานด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จะทำให้ผู้ประกอบกิจการมีการประกอบการที่ดี ช่วยลดข้อขัดแย้งและขจัดปัญหาข้อร้องเรียนของชุมชนและสังคม ทำให้โรงงานรักชุมชน ชุมชนรักโรงงาน ได้ตามนโยบาย MIND 4 มิติ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

นอกจากจะดำเนินการตามกฎหมายของกระทรวงฯ อย่างเคร่งครัดแล้ว หากยังพบปัญหาการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น ๆ นอกเหนือจากกฎหมายภายใต้กระทรวงฯ จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บีโอไอ เป็นต้น เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวพิจารณาดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password