ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.41 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย”
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.41 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.39 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.41 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงและมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนสูง (แกว่งตัวในช่วง 35.31-35.46 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังตลาด sell on fact รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่รายงานข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ และดัชนีภาคการผลิตที่สำรวจโดยเฟดนิวยอร์ก กลับออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนุนโดยถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟด รวมถึงความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดผันผวน
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า รายงานยอดค้าปลีกล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด อาจหนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดหรือเฟดอาจคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด กดดันให้หุ้นเทคฯ ใหญ่ต่างปรับตัวลดลง (Amazon -2.1%, Apple -1.1%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร (BofA -3.2%, JPM -2.6%) หลัง Fitch Rating ส่งสัญญาณว่าอาจปรับลดเครดิตเรทติ้งของธนาคารสหรัฐฯ หลายแห่งเพิ่มเติม ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.16%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงกว่า -0.93% กดดันโดยแรงขายหุ้นธีม China-recovery อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม หุ้นกลุ่มพลังงาน และหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (LVMH -1.5%, Shell -1.1%, Rio Tinto -1.3%) หลังผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางรายงายข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ยังคงอ่อนแอ่ และปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ ที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ผันผวนไปมาในช่วงทยอยรับรู้รายงานยอดค้าปลีก สหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 4.16%-4.26% ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.22% หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ คงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด อย่างไรก็ดี เรายังคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ระดับสูงกว่า 4.00% ถือว่าเป็นระดับที่น่าสนใจ ในการทยอยเข้าซื้อ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่มีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น และเฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และแม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับที่เราคาด ผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอย่างจำกัด ซึ่งเราคงมองว่า risk-reward ของการทยอยซื้อในช่วงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สูงกว่า 4.00% ยังมีความน่าสนใจและคุ้มค่าความเสี่ยง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนักในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด โดยมีทั้งจังหวะอ่อนค่าเร็ว ตามแรงขายทำกำไร ลักษณะ Sell on Fact จากรายงานยอดค้าปลีกที่ดีกว่าคาด ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้รับอานิสงส์จากยอดขายสินค้าออนไลน์ Amazon Prime Day ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังเจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงในตลาดการเงิน ก็ยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.2 จุด (กรอบ 102.8-103.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความผันผวนของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้ส่งผลกระทบให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) เคลื่อนไหวผันผวนเช่นกัน โดยราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวขึ้น ใกล้ระดับ 1,943 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,932 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเวลาราว 1.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ นี้ ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งเราคาดว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ก็อาจยังสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ แต่ก็อาจระบุว่า เฟดนั้นเข้าใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการขึ้นดอกเบี้ยได้เช่นกัน
นอกจากนี้ในฝั่งอังกฤษ ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ของอังกฤษ เดือนกรกฎาคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.8% จากระดับ 7.9% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงาน รวมถึงมาตรการคุมราคาแก๊สและค่าไฟฟ้า แต่ทว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 6.8% (จาก 6.9%) ทำให้เราประเมินว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อีก 2 ครั้ง ครั้งละ +25bps จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 5.75%
ส่วนในฝั่งไทย เรามองว่า ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การเมืองต่อ เพื่อประเมินแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลผสมว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร โดยตลาดการเงินไทยอาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมมีความชัดเจนมากขึ้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อได้บ้าง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น จากความไม่มั่นใจของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่วนราคาทองคำก็ยังคงแกว่งตัวใกล้โซนแนวรับสำคัญ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังเราพบว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาด โดยเฉพาะบรรดาผู้ส่งออก ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่แรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติก็มีแนวโน้มชะลอลง หากการจัดตั้งรัฐบาลของไทยมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเราประเมินโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวต้านแรก และโซน 35.75 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวต้านถัดไป นอกจากนี้ เรายังคงมองว่า เงินบาทอาจจบรอบการอ่อนค่าแถว 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์ จากที่เราได้ประเมินไว้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.30-35.55 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานผลการประชุมเฟดล่าสุด และมองกรอบเงินบาทในช่วง 35.20-35.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานผลการประชุมเฟดล่าสุด.