ยุทธศาสตร์แห่งโอกาส : เสนอเปลี่ยนเป็น ร.ร.สาธิตแห่ง กทม. + สร้างศูนย์เรียนภาษา ตปท. หนุนการท่องเที่ยวไทย
หาก ร.ร.ในสังกัดกทม. จะถูกยกระดับการเรียนการสอนใกล้เคียงความเป็น ร.ร.สาธิตชั้นนำ แผนการสร้างบุคลากรในอนาคตจะแกร่งแค่ไหน? และหากเมืองหลวงไทยที่กลายเป็นจุดหมายปลายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จะเป็นแหล่งสร้างคนไทยได้สื่อสารในหลายภาษา…การท่องเที่ยวของไทยจะ “ยืน 1” ในโลก ได้ยาวนานสักเพียงใด พบกัน 2 ข้อเสนอแห่งโอกาสดีๆ…
ท่ามกลางวิกฤติ…ย่อมมีโอกาส! ท่ามกลางปัญหา…ย่อมต้องมีทางออก! แต่ทางออกของปัญหา…ก็แปรเปลี่ยนเป็นทางตัน และโอกาสที่มองเห็น…ก็อาจกลับหัวกลายเป็นวิกฤตได้เช่นกัน หากไม่รู้จักการจัดการอย่างมีระบบและแบบแผน…
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา…ผมเพิ่งได้เห็น เด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครแต่งชุดไพรเวตไปเรียน เข้าใจว่า…ผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร คงเริ่มมีแนวนโยบายผ่อนปรนและสร้างความแปลกใหม่นี้ได้ไม่นานนัก จึงย้อนกลับหาไปข่าวนี้อ่าน…
พบว่า…เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง ในข่าวอ้างถึง…หนังสือด่วนที่สุด ที่ คุณวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และรักษาการแทนปลัดฯ ส่งหนังสือด่วนถึงผู้อำนวยการเขตต่างๆ ในกทม. เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับชุดเครื่องแบบนักเรียนและทรงผมนักเรียน ของโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง
ตามที่ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ข้อ 15 กำหนดว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาขาด นักศึกษาวิชาทหารหรือแด่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฎศิลป์ หรือชุดอื่น ๆ แทนเครื่องแบบนักเรียน ตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม นั้น
เพื่อเป็นการลดภาระคำใช้จ่ายของผู้ปกครอง จึงให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในแต่การกำหนด จากนั้นให้นำไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนนำไปประกาศใช้
โดยในกรณีที่มี นักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดตังกล่าวได้ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของนักเรียนผู้นั้นที่จะสวมชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดอื่นใดที่โรงเรียนกำหนดให้มีไว้อยู่แล้ว แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา และเพศวิถีของนักเรียน
ต้องขอปรบมือดังๆ ให้กับแนวคิดที่ก้าวหน้าของกรุงเทพมหานคร ในยุคของท่านผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับนโยบายดีๆ เช่นนี้…
ในฐานะที่เป็น คนกรุงเทพฯโดยกำเนิด และเคยได้ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนของกรุงเทพมหานคร (ชั้น ป.1 – ป.6) เมื่อกว่า 40 ปีก่อน เลยขอถือโอกาสนี้ นำเสนอ 2 แนวคิดอันอาจเป็นการสร้างโอกาสดีๆ ต่อเนื่องกัน เผื่อว่า…ท่านผู้ว่าฯชัชชาติ คุณวันทนีย์ รักษาการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร จะมองเห็นโอกาสและนำไปต่อยอดเพื่อสร้างระบบการศึกษา ทั้งการเรียนและการสอนของกรุงเทพมหานคร เจริญทัดเทียบกับโรงเรียนในมหานครของโลกอื่นๆ
จากข้อมูลพื้นฐาน พบว่า…ในปีการศึกษา 2566 มีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 437 โรงเรียน และมีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ในระดับชั้น อนุบาล 1-3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวมถึงชั้นมัธยมต้นและปลาย (ม.1-3 และ ม.4-6) ในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส กระจายอยู่ใน 50 เขต มากกว่า 2.6 แสนคน
ถือว่า…มีเครือข่ายไม่น้อยทีเดียว! และหากจุดเริ่มต้นในการสร้าง “บุคลากรคุณภาพ” ได้รับการปลูกฝังไปจากระบบการเรียนการสอนตามมาตรฐานที่ดีที่สุด! สามารถต่อยอดองค์ความรู้แขนงต่างๆ อย่างรอบด้าน จากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 แห่ง ลองคิดดูสิครับว่า…อนาคตของบุคลากรคนไทยและประเทศไทย จะก้าวหน้าไปไกลสักเพียงใด?
ลองมาดูที่ ข้อเสนอแรก คือ…ผมอยากเห็น โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 437 แห่ง เปลี่ยนชื่อใหม่ทั้งระบบ เป็น…“โรงเรียนสาธิตแห่งกรุงเทพมหานคร” (ตามด้วยหมายเลขเหมือนกับโรงเรียนไทยรัฐวิทยา) และ ปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายชุดนักเรียน (ยกเว้นวันที่ต้องแต่งชุดไปรเวตไปเรียน) ที่ไม่ต่างจากโรงเรียนสาธิตทั่วไป พร้อมยกระดับการเรียนการสอนที่เน้นให้ “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง” และมอบอำนาจและสิทธิขายให้ครูผู้สอน สามารถออกแบบการเรียนการสอนและวิชาที่สอน ให้สอดรับกับพื้นที่และความต้องการของตัวนักเรียนเอง
หากทำได้! ส่วนตัวเชื่อว่า…จะถือเป็นการ ต่อยอดและยกระดับ การศึกษาของกรุงเทพมหานคร “นครหลวงชั้นแนวหน้า” ทั้งของภูมิภาคนี้และของโลก ได้อย่างชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว! ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ โดยเฉพาะกับ ชุดนักเรียนของน้องๆ นั้น ทางกรุงเทพมหานครมีอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมเท่านั้น
อีกข้อเสนอ ของผม ก็คือ…ทุกวันนี้ กรุงเทพมหานครได้ชื่อว่าเป็น “เมืองและเมืองหลวงที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก” ที่จริง…มันก็เป็นอย่างนี้มายาวนานหลายปีแล้ว เพียงแต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกซบเซาและเพิ่งจะกลับมาคึกคักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
หากไม่มีปัญหาเรื่องโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงระบาดไปทั่วเหมือนกับโควิด-19 และ/หรือ ประเทศไทยไม่ต้องประสบกับปัญหา “ม็อบเกลื่อนเมือง” รวมถึงการเคลื่อนรถถังออกมารัฐประหาร…ยึดอำนาจ กันอีกแล้ว ผมยังมั่นใจว่า…กรุงเทพมหานครของไทยนี่แหละ ที่จะเป็น “จุดหมายปลายทาง” ในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และยังคงติดอยู่ในอันดับ 1 ของโลกต่อไปอีกยาวนานหลายปี
แต่ในโอกาสที่กรุงเทพมหานคร ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าในปี 2566 นี้ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน นำรายได้เข้าสู่ประเทศมากกว่า 2 ล้านล้านบาท
เสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารโดยตรงกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่าได้ ที่สื่อสารได้ก็มีเพียงไม่กี่ภาษาชั้นนำของโลก และมีจำนวนไม่มากที่พูดคุยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
จะดีกว่าไหม? หาก รัฐบาลชุดใหม่ของไทย และคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การนำของ ท่านผู้ว่าฯชัชชาติ จะนำพื้นที่บางส่วนของ 437 โรงเรียนในสังกัดฯ รวมถึงโรงเรียนในจังหวัดอื่นๆ ทั้งส่วนที่เป็น ห้องเรียนและพื้นที่สำหรับจอดรถ เพื่อใช้เป็น…แหล่งเรียนรู้ภาษาต่างประเทศให้กับคนกรุงเทพฯและแรงงานต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ รวมถึงคนต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย
ใครที่สนใจและสะดวกจะเรียนภาษาต่างประเทศ…ไม่ว่าจะเป็นภาษาหลักที่ทั่วโลกนิยมใช้ เช่น…ภาษาอังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส โปรตุกีส จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อาหรับ ฯลฯ หรือภาษารองๆ กันไป เช่น ภาษาอินเดีย เยอรมัน แอฟริกา กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ ก็สามารถจะเลือกเรียนได้ในวันและเวลาที่สะดวก
สะดวกจะเรียนช่วงเย็นหลังเลิกงานในวันจันทร์-ศุกร์ หรือบางช่วงเวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เลือกได้ตามสบาย มีเงื่อนไขที่ต้องกำหนดให้ชัด คือ เรียนฟรี! แต่ต้องวางเงินสดเป็นหลักประกันระหว่างการเรียน เมื่อเรียนจบ…ก็ส่งเงินคืนกันไป แต่หากเรียนไม่จบ! ก็ต้องยึดเงินค้ำประกันในส่วนนี้ ผมถือว่า…มันแฟร์ดี!!!
จะนำร่องไปในบางเขต บางอำนาจ หรือบางพื้นที่ก็ได้ โครงการมีแนวโน้มความสำเร็จ…ค่อยขยายไปยังเขต อำเภอ และพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
อดคิดไม่ได้ว่า…วันข้างหน้าในอนาคตอันใกล้! เมื่อคนไทยสามารถจะสื่อสารตรงกับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกด้วยภาษาต่างๆ (คนไทย 1 คน สื่อได้ 2-3 ภาษาเป็นอย่างน้อย) แล้ว การท่องเที่ยวของประเทศไทยและของกรุงเทพมหานคร รวมถึงเมืองใหญ่-เล็กอื่นๆ จะเติบโตถึงขีดสุดในจุดใด???
ก็แค่ฝาก 2 เรื่องให้…รัฐบาลชุดใหม่, ท่านว่าที่นายกฯคนที่ 30, ท่านว่าที่ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ รมว.มหาดไทยคนใหม่ รวมถึง ท่านผู้ว่าฯชัชชาติ คณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร จะได้เห็นการสื่อสารข้อความนี้ และนำไปพิจารณาปรับแก้ไขให้เหมาะสมกับแนวนโยบายของพวกท่านเอง
ผมก็แค่นำเสนอในแบบ “โยนก้อนหินถามทาง” เผื่อว่า…จะมีใครพอมองเห็นโอกาสดีๆ เช่นนี้ได้บ้าง ก็เท่านั้น.
สุเมธ จันสุตะ
email : schansuta@gmail.com