“อีอีซี” เปิดรับฟังความเห็น ร่าง แผนภาพรวมพัฒนา อีอีซี ระยะ 2
อีอีซี เปิดรับฟังความเห็น (ร่าง) แผนภาพรวมพัฒนา อีอีซี ระยะ 2 วางเป้า 5 ปี ต้นแบบการนำพาความเจริญ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน สังคม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
เมื่อ 21 ก.ค.2566 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี จัดการประชุมรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมีนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการฯ สายงานนโยบายและแผน และผู้บริหาร อีอีซี ร่วมนำเสนอ (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี รวมทั้งได้เปิดเวทีเพื่อรับฟังคิดเห็น ตอบข้อซักถามจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี พ.ศ. 2566- 2570 ในครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจสำคัญและทิศทางขับเคลื่อนองค์กร อีอีซี รวมทั้งเพื่อต่อยอดและทบทวนแผนภาพรวมฯ อีอีซี ในระยะที่ 1 (2561- 65) ที่ผ่านมา โดยกรอบแนวคิดใน (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี (2566 -70) ปัจจัยสำคัญจะพิจารณาให้สอดคล้องการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายหลักรัฐบาล โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและระดับโลก
ซึ่งอีอีซี ได้สร้างการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และจะนำข้อเสนอแนะ ไปปรับปรุง (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี ให้สอดคล้องตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์ พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี มีกรอบแนวทางการพัฒนาที่สำคัญๆ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี 2) เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ 5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน
โดยอีอีซี ได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้เกิดมูลค่าการลงทุนโดยเฉพาะจาก 5 คลัสเตอร์หลัก การแพทย์ขั้นสูง ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) BCG และบริการ พร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก ผลักดันให้คนในพื้นที่อีอีซีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับ การดำเนินงานแผนภาพรวมฯ อีอีซี ระยะที่ 1 (2561 -65) ที่ผ่านมา ซึ่งได้เน้นการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานหลัก ทั้งด้านคมนาคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม เตรียมความพร้อมด้านพื้นที่และแรงงาน สร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการสร้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เกิดมูลค่าการลงทุนที่อนุมัติแล้วสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท จากที่วางเป้าหมายไว้ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการร่วมลงทุนรัฐ เอกชน (4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก) 661,012 ล้านบาท มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมลงทุน(บีโอไอ) 1,250,305 ล้านบาท และงบบูรณาการอีอีซี 70,271 ล้านบาท