ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (11) ที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS มองเงินบาท “แข็งค่าขึ้น” หลังเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.15 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ทดสอบโซนแนวรับ 35.05-35.10 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำสู่ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
บรรยากาศในฝั่ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.24% หนุนโดยถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างส่งสัญญาณว่า แม้เฟดจะมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่ก็ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นสถาบันการเงินขนาดใหญ่
ส่วนในฝั่ง ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.18% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นต่อของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (L’ Oreal +0.8%, Hermes +0.8%) ท่ามกลางความหวังว่า ทางการจีนอาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังการประชุม Politburo ในเดือนนี้ อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นยุโรปกลับถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้น Novo Nordisk -1.1% หลังสำนักงานยายุโรปเตรียมเข้าตรวจสอบ side effects ของการใช้ยาเบาหวานและยาลดน้ำหนักของบริษัท
ในฝั่ง ตลาดบอนด์ ท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างส่งสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นอาจใกล้ถึงจุดยุติ ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติม (สอดคล้องกับที่เราเคยประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะในการ Buy on Dip) ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.00% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ หากผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า แม้เฟดจะใกล้ยุติขึ้นดอกเบี้ย แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อาจไม่ได้ปรับตัวลดลงเร็วหรือกลับเข้าสู่ระดับ 2.50% ที่เฟดประเมินไว้ ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
ทางด้าน ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 101.9 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 101.9-102.6 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจยังคงแกว่งตัว sideway หรืออาจไม่ได้มีการปรับตัวในทิศทางใดอย่างชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพุธนี้ ในส่วนของ ราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงในช่วงแรก ก่อนที่ราคาทองคำจะได้แรงหนุนจากการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) รีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง โดยเรามองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ โดยหากการจ้างงานในอังกฤษยังอยู่ในภาวะตึงตัว ส่งผลให้อัตราการเติบโตของค่าจ้างยังทรงตัวในระดับสูง ก็อาจหนุนให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +50bps เหมือนกับในการประชุมรอบก่อนหน้าได้ นอกจากนี้ ตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซนผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ซึ่งตลาดมองว่า รายงานข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาด (นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน) อาจยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ท่ามกลางการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ ECB และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่แย่กว่าคาด
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไป
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า แม้เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ แต่ทว่า เงินบาทยังมีปัจจัยเสี่ยงการเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งอาจกดดันให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ โดยเฉพาะในช่วงที่จะใกล้ถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี (วันที่ 13 กรกฎาคม นี้) ทำให้ เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อจนทะลุโซนแนวรับแถว 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก นอกจากนี้ เรายังคงเห็นสัญญาณการทยอยขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ก่อนรับรู้ผลโหวตเลือกนายกฯ
ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าทะลุแนวรับสำคัญดังกล่าว เราประเมินว่า มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อทดสอบโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจาก ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ อย่าง ผู้นำเข้า ต่างรอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น อนึ่ง โซนแนวต้านของเงินบาทอาจขยับลงมาอยู่ในโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.20 บาท/ดอลลาร์.