พพ.ตรวจเยี่ยมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล แก้ไขปัญหาเกษตรขาดแคลนน้ำจังหวัดจันทบุรี
พพ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรจังหวัดจันทบุรี กว่า 108,000 ไร่ เตรียมเสริมโซลาร์ลอยน้ำต่อเนื่อง สร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า พพ.ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำ ณ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล จ.จันทบุรี โดยโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลอง ทุ่งเพล ดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พพ. เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2532 ก่อแล้วเสร็จปี 2559 เป็นโครงการเอนกประสงค์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำไว้เพื่ออุปโภค บริโภค ตลอดจนการเกษตรและผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเสริมเข้าระบบจ่ายพลังงานของประเทศ
ลักษณะโครงการประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อน 2 แห่ง ก่อสร้างกั้นคลองทุ่งเพล ในเขตอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี และเขื่อนบ้านพลวง (เขื่อนล่าง) ก่อสร้างกั้นคลองพลวงในเขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เป็นโครงการสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกรส่วนใหญ่ของจังหวัดจันทบุรี สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรครอบคลุม 4 ตำบล คือ ตำบลพลวง ตำบลตะเคียนทอง(บางส่วน) ในเขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ (ระบบส่งน้ำเพื่อการเกษตรฝั่งตะวันตก) และตำบลวังแซ้ม ตำบลฉมัน ในเขตอำเภอมะขาม (ระบบส่งน้ำเพื่อการเกษตรฝั่งตะวันออก) รวมประมาณ 25 หมู่บ้าน 2,580 ครัวเรือน
รวมทั้งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำได้ประมาณปีละ 10 ล้านหน่วย ผลิตไฟฟ้ารวมแล้วกว่า 57 ล้านหน่วย รายได้มากกว่า 160 ล้านบาท และพื้นที่เพาะปลูกกว่า 108,000 และช่วยลดการสูญเสียในระบบสายส่งไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงในระบบสายส่งของประเทศ
สำหรับแนวทางการส่งเสริมพลังงานทดแทนระดับชุมชน โดยเฉพาะพลังงานน้ำขนาดเล็ก พพ.ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP เพื่อเสริมระบบความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว และที่สำคัญพลังงานน้ำไม่มีต้นทุนด้านเชื้อเพลิง และน้ำก็ยังสามารถกลับมาใช้ได้ต่อเนื่อง รวมทั้งการบริหารจัดการที่จะให้ประโยชน์ด้านการเกษตร และช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยขณะนี้ พพ.ได้ดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก จำนวน 26 โครงการ รวมกำลังผลิต 77,285 กิโลวัตต์ และโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2568 – 2570 อีกจำนวน 3 โครงการ รวมกำลังผลิต 2,456 กิโลวัตต์
ทั้งนี้ พพ.ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำกับพลังน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ Floating Solar Farm) เป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำของ พพ.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้า ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของ พพ.ทั้ง 9 แห่ง รวมกำลังผลิต 63.43 MW ภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการของบประมาณแผ่นดิน ปี 2567
โดยหลังจากได้รับงบประมาณแล้ว พพ.จะดำเนินการจัดทำรายงาน COP และ ESA สำหรับขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หลังจากนั้นจึงดำเนินการเตรียมพื้นที่และเตรียมอุปกรณ์การก่อสร้าง สำหรับงานก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักร และอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า ทดสอบอุปกรณ์และทดสอบระบบ จนกระทั่งผลิตไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายใน พ.ศ 2568
นอกจากนี้ พพ.ยังได้มีการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ณ โรงเรียนคิชฌกูฏวิทยา อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี โดยภายในงานมีกิจกรรมสร้างความรู้ อาทิ “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี” ,กิจกรรมฐานความรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน โดย ศูนย์บริการวิชาการที่ 1 (จ.ปทุมธานี) กองถ่ายทอดและเผยแพร่เทคโนโลยี พพ.,นิทรรศการข้อมูลด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเคลื่อนที่ (Energy Mobile Unit) โดย สำนักงานพลังงานจังหวัดจันทบุรี และ พพ.ได้มีการมอบชุดองค์ความรู้ “เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากวัสดุรีไซเคิลสำหรับต่อกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า”ให้แก่โรงเรียนไว้ใช้ประโยชน์ ต่อไป