ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ ‘อ่อนค่าลง’
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ชี้! ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (7) ที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” ตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้าน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 35.00-35.25 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงของราคาทองคำสู่ระดับ 1,910 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อมั่นว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้
สำหรับ บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงชัดเจน โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.79% แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างยอดการจ้างงานนอกภาคเอกชนโดย ADP และดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ จะออกมาดีกว่าคาดไปมาก แต่ภาพดังกล่าวกลับทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมองว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเลือกจะทยอยขายหุ้นออกมา โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ย (Tesla -2.1%, Amazon -1.6%)
ส่วนใน ฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ดิ่งลงกว่า -2.34% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟด หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างขายหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML -3.0%) นอกจากนี้ ภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่สดใสก็ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นยุโรปผ่านแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Hermes -4.8%, Anglo American -4.4%)
ในฝั่ง ตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดไปมาก ยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 4.00% ก่อนที่บอนด์ยีลด์จะย่อตัวลงเล็กน้อย ตามแรงซื้อของนักลงทุนบางส่วน ท่ามกลางภาวะตลาดการเงินผันผวน และส่วนหนึ่งก็อาจมองว่า บอนด์ยีลด์ระดับดังกล่าวมีความน่าสนใจมากขึ้น
ทางด้าน ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ หลังจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดมาก อย่างไรก็ดี เราเห็นว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นเกินกว่าระดับ 103.5 จุด ไปได้ไกล (กรอบการเคลื่อนไหว 102.95-103.5 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,910 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้นราว 2 แสนตำแหน่ง ในเดือนมิถุนายน ชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3.4 แสนตำแหน่ง ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งการชะลอลงของการจ้างงานจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อยู่ที่ระดับ +0.3%m/m หรือ +4.2%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ หากยอดการจ้างงานออกมาสูงกว่าคาดมาก เช่น +3 แสนตำแหน่งขึ้นไป หรือ อัตราการเติบโตของค่าจ้างมากกว่า +4.3%y/y ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสมากขึ้นที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมเดือนกันยายน โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาส 92% เฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม โอกาส 56% ในการขึ้นดอกเบี้ยต่อในเดือนพฤศจิกายน (ตลาดมอง เฟดอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายน โดยให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อเพียง 28%) เราประเมินว่า ในกรณีดังกล่าว ที่ข้อมูลการจ้างงานนั้นออกมาดีกว่าคาดมาก เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร หากตลาดให้โอกาสเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อในเดือนกันยายนไม่น้อยกว่า 40%
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้ หลังตลาดเริ่มปรับมุมมอง (reprice) แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งเราจะพร้อมปรับมุมมองของเราต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเช่นกัน หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งกว่าคาดมาก ทำให้เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งได้จริง (เราคาดว่า เฟดน่าจะจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม หากมีการขึ้นดอกเบี้ยได้จริง) อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดได้ทยอยรับรู้แนวโน้มข้อมูลการจ้างงานที่อาจออกมาดีกว่าคาดไปมากแล้ว หลังจากยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ในคืนก่อนหน้าออกมาดีกว่าคาดไปมาก (เพิ่มขึ้นเกือบ 5 แสนตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดมองไว้เพียง +2.3 แสนตำแหน่ง) ทำให้ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ต้องออกมาดีเกินคาดไปมากเช่นกัน ถึงจะสามารถช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์พอจะแข็งค่าขึ้นต่อได้ ทั้งนี้ แม้ว่า เงินดอลลาร์อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อมาก หากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันนี้ ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดไปมาก แต่เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำได้บ้าง หากบอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อ
นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระวัง ความผันผวนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาทยอยขายหุ้นไทยอีกครั้ง จากความกังวลสถานการณ์การเมืองไทย แต่เราคาดว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวขึ้นตามได้บ้าง ซึ่งก็จะช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาด อย่าง นักลงทุนต่างชาติ ทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยเพิ่มเติมได้ ซึ่งฟันด์โฟลว์ในส่วนตลาดบอนด์ก็อาจพอช่วยลดทอนผลกระทบจากแรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ทำให้เงินบาทอาจพอมีแนวต้านอยู่ในช่วง 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.30 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ
และมองกรอบเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35.00-35.45 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ.