สศอ.เผยผลการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก 14 ประเทศ
สศอ.เผยผลการประชุมหารือแนวทางการใช้ประโยชน์ของห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมภายใต้การเจรจาจัดทำกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ต่อหน่วยงานรัฐและเอกชน ร่วมกับประเทศสมาชิก 14 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ดำเนินการจัดการประชุมหารือแนวทางการใช้ประโยชน์ของห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมภายใต้การเจรจาจัดทำกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) ต่อหน่วยงานรัฐและเอกชน โดย สศอ. ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนหลักในการเจรจาด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อส่งเสริมการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในสาขาและสินค้าที่สำคัญ ป้องกันการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ระบบโลจิสติกส์ สนับสนุน MSMEs พัฒนาแรงงานที่มีทักษะสําหรับห่วงโซ่อุปทานในสาขาที่สําคัญ สร้างมาตรการความโปร่งใสตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งมากขึ้น
สำหรับการเจรจากรอบความร่วมมือ IPEF เป็นการเจราจาระหว่างประเทศ มีสมาชิกเข้าร่วม 14 ประเทศ และมีการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) รวมเป็นร้อยละ 40 ของโลก โดยไทยได้เข้าร่วมเจรจาและร่างกรอบความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสในการขยายการค้าไปยังประเทศที่มีกำลังซื้อสูง มีความหลากหลายของวัตถุ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมายังไทย พร้อมทั้งใช้เป็นมาตรฐานในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่าน 4 เสาความร่วมมือ ได้แก่ 1. ด้านการค้า (Trade) 2. ด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) 3. ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Clean Economy) และ 4. ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Fair Economy) เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ทั้งนี้ ในการเจรจาครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเจรจาหลักในภาพรวม และแต่งตั้งให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ. เป็นผู้แทนหลักในเสาความร่วมมือที่ 2 ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ซึ่ง สศอ. ได้มีการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนหลายครั้ง รวมทั้งจัดสัมมนา เรื่อง “ห่วงโซ่อุปทาน อินโด-แปซิฟิก : โอกาสการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในภูมิภาค” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแนวทางการใช้ประโยชน์ของห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม ภายใต้ IPEF
“ผู้ประกอบการไทยต้องมีการปรับตัวในด้านความแข็งแรงของห่วงโซ่อุปทานสินค้า เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน โดยผู้ประกอบการจะต้องมีความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบในภูมิภาคและไม่พึ่งพาวัตถุจากแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ขณะที่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบการจะต้องนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลในการอำนวยความสะดวก เพิ่มความโปร่งใส รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับ และด้านแรงงาน ผู้ประกอบการจะต้องอบรมและพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับห่วงโซ่อุปทาน และด้านสิ่งแวดล้อม โดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม” นางวรวรรณ กล่าว