“อีอีซี” ร่วมลงทุนบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในพื้นที่อีอีซี
อีอีซี MOU ร่วม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาต้นแบบร่วมลงทุนบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในพื้นที่อีอีซี
เมื่อ 1 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การยกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยมี ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี และเรืออากาศเอกอัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมลงนาม ฯ ณ ห้องประชุมสัตตบงกช สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
ดร. จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี เปิดเผยว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือสำคัญของอีอีซี และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่จะสร้างกลไกบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่อีอีซีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สนับสนุนการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประชาชนในพื้นที่อีอีซีได้อย่างรวดเร็วทั่วถึง มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล รองรับการช่วยเหลือให้ผู้ป่วย ผู้ประสบภัยอุบัติเหตุร้ายแรง ได้เกิดการลำเลียงขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางอากาศยานได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แนวทางความร่วมมือภายใต้ MOU ดังกล่าว อีอีซี จะร่วมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการแพทย์ฉุกเฉินในทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในธุรกิจบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะในด้านอากาศยาน การขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านทางเฮลิคอปเตอร์ เพื่อลำเลียงขนส่งได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการศึกษาวิจัย และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ อีอีซี จะพัฒนาให้เกิดต้นแบบการร่วมลงทุน ผลักดันสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้านอากาศยาน สร้างโมเดลขับเคลื่อนสนับสนุนให้เกิดธุรกิจบริการการแพทย์ฉุกเฉินดังกล่าวเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่อีอีซีต่อไป
ด้าน เรืออากาศเอกอัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ได้ร่วมกับอีอีซี และภาคีเครือข่าวการแพทย์ฉุกเฉิน จัดทำโครงการพัฒนายกระดับให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่อีอีซี โดยพัฒนาระบบที่มีมาตรฐาน สามารถเข้าถึงบริการฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ มีหน่วยปฏิบัติการ สถานพยาบาล รองรับการให้บริการที่รวดเร็ว ซึ่งจากความร่วมมือครั้งนี้ สพฉ. จะสนับสนุนภาคีเครือข่ายให้พัฒนาการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน ทั้งระบบปฏิบัติการฉุกเฉิน ระบบสื่อสาร ให้เกิดการปฏิบัติการฉุกเฉินรวดเร็ว และสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ