ศก.ไทยฟื้น หนุนดัชนี MPI เดือน มี.ค. 2566 ขยายตัวร้อยละ 5.47
สศอ. เผยเศรษฐกิจไทยฟื้น หนุนดัชนี MPI เดือน มี.ค. 2566 ขยายตัวร้อยละ 5.47 ชี้การท่องเที่ยวในประเทศคึกคัก ดันความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 104.65 ขยายตัวร้อยละ 5.47 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 66.06 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรก ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 101.07 ขยายตัวร้อยละ 7.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากเศรษฐกิจในประเทศทยอยปรับตัวดีขึ้น
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ประกอบกับประเทศ คู่ค้าหลักหลายประเทศยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ส่งผลต่อความต้องการซื้อจากต่างประเทศชะลอตัว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีในเดือนมีนาคม ปี 2566 ได้แก่ รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 8.18 จากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นในรถยนต์หลายรุ่น ทำให้สามารถผลิตได้เพิ่มขึ้น การกลั่นน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 6.15 จากการผลิตน้ำมันเครื่องบิน และแก๊สโซฮอล์ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากขึ้น และเครื่องปรับอากาศ ขยายตัวร้อยละ 7.09 จากความต้องการของตลาดส่งออกไปกลุ่มประเทศอาเซียน และการเร่งส่งมอบเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สศอ. ได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนเมษายน ปี 2566 มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากปัจจัยภายในประเทศฟื้นตัวตามการบริโภคและการท่องเที่ยว การลงทุนที่เพิ่มขึ้น ภาคก่อสร้างขยายตัวส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว และส่งผลให้ยอดขายดีขึ้นในระยะต่อไป สำหรับปัจจัยภายนอก อุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญมีทิศทางปรับตัวขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น และจีน หลังเปิดประเทศ ภาคการส่งออกยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาเงินเฟ้อและนโยบายการเงินของหลายประเทศ รวมถึงสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ และการลดกำลังการผลิตน้ำมัน
“นอกจากนี้ สศอ. ยังได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเชิงลึกเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรม Hard Disk สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ถุงมือยาง เหล็กและเหล็กกล้า เฟอร์นิเจอร์ไม้ และเม็ดพลาสติก มีแนวโน้มการผลิตและส่งออกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สศอ. ได้กำหนดจัดสัมมนากลุ่มย่อย (Focus Group) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อให้ทราบปัญหาอุปสรรคที่แท้จริงและหาแนวทางมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมดังกล่าวในระยะต่อไป” นางวรวรรณ กล่าว