‘คปภ.-ขบ.’ นำดิจิทัล ‘เช็ค พ.ร.บ. ก่อนเสียภาษีรถรายปี’ มั่นใจยอดรถทำ พ.ร.บ.พุ่งแน่!

คปภ.ผนึกกรมการขนส่งทางบก นำระบบ “ดิจิทัล” เชื่อมโยงข้อมูลทำประกันภัย พ.ร.บ. ก่อนยื่นเสียภาษีรถฯประจำปี มั่นใจ! โครงการนี้ดันยอดซื้อประกันภัย พ.ร.บ. ทั้งในส่วนของรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นแน่ ด้าน  “เลขาฯสุทธิพล” เตรียมออกคำสั่งนายทะเบียน จี้บริษัทประกันภัยฯ แจ้งยอดประกันภัย พ.ร.บ.ผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะที่ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ขอทดลองระบบ 3 เดือนแรก เริ่ม พ.ค.นี้ ก่อนประกาศใช้จริง 1 ก.ค.66 ลั่น! พร้อมปรับเวลาประกันภัยฯให้สอดรับช่วงการเสียภาษี ตามด้วยข่าวดี! เปลี่ยนป้ายแดงเป็นป้ายดำในเวลาอันสั้น  

เมื่อช่วงสายของวันที่ 21 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ,  สำนักงาน คปภ. โดย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ  เลขาธิการ คปภ. ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงคมนาคม โดย นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมแถลงข่าว เปิดตัวระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อตรวจสอบการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับการชำระภาษีรถประจำปี ระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูรณาการร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำประกันภัย พ.ร.บ. ด้วยการพัฒนา “ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อตรวจสอบการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ.” ให้รองรับการตรวจสอบข้อมูลการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ครอบคลุมทุกช่องทางการชำระภาษีรถประจำปีของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการต่อภาษีรถประจำปี และเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงระบบประกันภัยให้แก่ประชาชน

ดร.สุทธิพล กล่าวถึงข้อมูลสถิติในปี 2565 ที่พบว่า มีจำนวนรถฯที่ยื่นเสียภาษีกับกรมการขนส่งทางบกรวมกันราว 33.17 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์มากกว่า 19 ล้านคัน ที่เหลืออีกกว่า 14 ล้านคันเป็นรถจักรยานยนต์ โดยในจำนวนนี้ มีรถยนต์ที่ซื้อประกันภัย พ.ร.บ. (ประกันภัยภาคบังคับ) เพียงกว่าร้อยละ 60 ขณะที่ รถจักรยานยนต์มีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น ซึ่งถือว่ามีอัตราที่ค่อนข้างต่ำมาก อย่างไรก็ตาม การบูรณาการร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำประกันภัย พ.ร.บ.กับกรมการขนส่งทางบกในครั้งนี้ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาการไม่ซื้อประกันภัย พ.ร.บ.ของเจ้าของรถฯได้เป็นอย่างดี คาดว่าจะมีสัดส่วนของรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ซื้อประกันภัย พ.ร.บ. เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากระบบใหม่จะช่วยตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และกรมการขนส่งทางบกจะไม่รับชำระภาษีกับรถฯที่ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ. พร้อมกันนี้ สำนักงาน คปภ. ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทประกันภัย “ขายหรือจัดโปรโมชั่น” ร่วมกับบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ แถมฟรี! ประกันภัยรถยนต์ (ประกันภัยชั้น 1 และประกันภัย พ.ร.บ.) แก่เจ้าของรถฯป้ายแดง โดยกำหนดอายุประกันภัยมากกว่า 1-3 ปีขึ้นไป โดยบางส่วนได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว

“ในฐานะคำสั่งนายทะเบียน ผมเตรียมจะออกคำสั่งฯ บังคับให้บริษัทประกันภัย ต้องรายงานข้อมูลการซื้อขายประกันภัย พ.ร.บ. จัดส่งทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มายัง สำนักงาน คปภ. เพื่อจะได้มีข้อมูลการทำประกันภัย พ.ร.บ. รวมถึงได้ประสานงานกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกันในโอกาสต่อไป” เลขาธิการ คปภ. ระบุ

ด้าน นายจิรุตม์ กล่าวว่า รูปแบบการชำระภาษีแบบเดิมที่เคยมีหลายช่องทางแล้ว เช่น ระบบเอกสารแบบเดิม ระบบเลื่อนล้อต่อภาษี หรือผ่านช่องทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส และอื่นๆ แล้ว ในส่วนของรูปแบบการชำระภาษีแบบใหม่ ที่มีการนำระบบอิเลกทรอนิกส์ (ดิจิทัล) มาใช้ในครั้งนี้ ยังช่วยเพิ่มความสะดวกในกับเจ้าของรถยนต์ได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยกรมการขนส่งทางบกจะได้เริ่มทดลองใช้ครั้งแรก ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 รวมเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งช่วงแรกจะยังคงใช้ระบบคู่ขนาด กล่าวคือ ระบบปกติ โดยการตรวจสอบเอกสาร ควบคู่กับการนำระบบ “ดิจิทัล” มาใช้ ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกได้ปรับตัวให้เข้ากับระบบใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 กรมการขนส่งทางบกจะเริ่มใช้ระบบระบบอิเลกทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม หากยังติดขัดปัญหาใดๆ ระหว่างนี้ ทางสำนักงาน คปภ. ยืนยันว่า พร้อมจะเข้ามาช่วยประสานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะมีขึ้น

ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากความร่วมมือในการจัดทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อตรวจสอบการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับการชำระภาษีรถประจำปี ร่วมกับสำนักงาน คปภ.ในครั้งนี้ โดยในส่วนของ กรมการขนส่งทางบก นั้น นอกจากจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินงานลง ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ใช้เวลาตรวจสอบเอกสารจากเดิมเฉลี่ย 1.40 นาที/คัน เหลือเพียงไม่ถึง 1.0 นาที/คันแล้ว ยังจะช่วยในเรื่องของการประหยัดการใช้กระดาษ และลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีก ขณะที่ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถยนต์ ก็จะใช้เวลาในการชำระภาษีสั้นลง สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถตรวจสอบขั้นตอนการทำงานและช่วงเวลาชำระภาษีได้ง่ายขึ้น ด้าน บริษัทกันภัยเอง ก็จะได้รับความสะดวกและประโยชน์ไม่ต่างจากกันนัก

“กรมการขนส่งทางบกพยายามเชิญชวนให้เจ้าของเจ้าของรถยนต์หรือจักรยานยนต์ ได้ปรับช่วงเวลาของอายุกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการยื่นเสียภาษีประจำ โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเจ้าของรถฯ คาดว่าจะใช้เวลาจากนี้ไม่นานนัก เบื้องต้น ทางเลขาธิการ คปภ. ยืนยันว่าพร้อมจะช่วยประสานกับสมาคมประกันวินาศภัยและบริษัทประกันภัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของรถฯต่อไป” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ย้ำ

ส่วนกรณี รถยนต์ป้ายแดง ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของรถฯมักจะได้รับ แถมฟรี! ประกันภัยชั้น 1 และประกันภัย พ.ร.บ. มากับรถฯ แต่จะทิ้งช่วงเวลาจากการได้รับป้ายดำ จนเป็นปัญหาการเหลื่อมล้ำของระยะเวลาระหว่างกัน นั้น นายจิรุตม์ ระบุว่า เทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันได้พัฒนาไปไกลมาก โดยขณะนี้ กรมการขนส่งทางบกเอง อยู่ระหว่างการจัดเตรียมระบบการส่งมอบป้ายดำให้กับรถยนต์ป้ายแดง โดยจะใช้เวลาการอนุมัติเพียงไม่นานนัก ก็จะส่งมอบป้ายดำให้กับรถยนต์ป้ายแดง คาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password