“BCPG” อนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีหลังปี 2565 หุ้นละ 0.16 บาท
BCPG อนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีหลังปี 2565 หุ้นละ 0.16 บาท และอนุมัติกรอบวงเงินกู้ยืมระหว่าง บีซีพีจี และบริษัทย่อย กับ บางจาก วงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท หรือเทียบเท่า ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี
นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 รับทราบผลการดำเนินงาน ประจำปี 2565 ของกลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่ 5,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบปี 2564 ที่มีรายได้จากการขายและให้บริการเท่ากับ 4,669 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,632 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 30.8 จากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,010 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีมติอนุมัติการจัดสรรเงินกำไรสุทธิประจำปี 2565 ไว้เป็นทุนสำรองตามกฎหมาย และจ่ายเป็นเงินปันผลจากกำไรสุทธิสำหรับผลการดำเนินงานในรอบครึ่งปีหลังของปี 2565 ในอัตรา 0.16 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 465.24 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลที่จ่ายไปในปี 2565 (อัตรา 0.20 บาทต่อหุ้น) จะคิดเป็นเงินปันผลที่จ่ายประจำปี 2565 จำนวนรวม 0.36 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 1,044 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 เมษายน 2566
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีมติอนุมัติกรอบวงเงินกู้ยืมระหว่างกัน (Intercompany Loan) ระหว่าง บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย กับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) และ/หรือ บริษัท บางจาก ศูนย์บริหารเงิน จำกัด (BCTC) ซึ่งเข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันโดยอนุมัติกรอบวงเงินกู้ยืมไว้ล่วงหน้าภายในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท หรือเทียบเท่า ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ในรูปแบบของเงินกู้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ประเภทไม่ผูกพันและไม่มีหลักประกัน ทั้งนี้ในกรณีที่บริษัทฯ และ/หรือ บริษัทย่อย เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจะต้องไม่ต่ำกว่าต้นทุนของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ ขณะทำรายการ และหากในกรณีที่บริษัทฯ และ/หรือ บริษัทย่อย เป็นผู้รับความช่วยเหลือทางการเงิน อัตราดอกเบี้ยที่บริษัทฯ จ่ายจะต้องไม่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทฯ และบริษัทย่อย จะสามารถกู้ยืมได้จากสถาบันการเงิน ณ ขณะทำรายการ
“การอนุมัติกรอบวงเงินกู้ยืมระหว่างกันดังกล่าวทำให้บริษัทฯ มีทางเลือกในการบริหารสภาพคล่องและกระแสเงินสดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ย สำหรับการเข้าทำรายการอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ทั้งในแง่การลงทุนและการจัดหาแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ” นายนิวัติ กล่าว