กกต.โล่ง! ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้องปมแบ่งเขต ขณะ “อรรถวิชช์” ยังข้องใจ
ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้อง กกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.-สุโขทัย-สกลนคร ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตาม รธน. ไม่มากไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 “อรรถวิชช์” ยังข้องใจ ชี้คำพิพากษาศาลสร้างบรรทัดฐานใหม่ หลังจากนี้ กกต.จะสามารถแบ่งเขตได้ตามใจชอบ
วันที่ 7 เมษายน 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้อง ในที่คดีที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม., คดีที่นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จ.สกลนคร, คดีที่นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ใน จ.สุโขทัย และคดีที่นายพัฒ ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์จาก จ.สุโขทัย ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีขอให้เพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร, จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ลงวันที่ 16มี.ค.2566 ตามลำดับ
โดยให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน เป็นตัวตั้ง ทั้งในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ตามประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งในแต่พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย มีจำนวนไม่มากหรือมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง 162,766 คน ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน จนเกินไป
การที่ กกต.ออกประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 ในส่วนของกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง, จ.สกลนคร 7 เขตเลือกตั้ง และ จ.สุโขทัย 4 เขตเลือกตั้ง จึงเป็นการประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (5) ที่กำหนดว่า จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน จึงพิพากษายกฟ้อง
ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งออกแถลงการณ์ว่า ได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ไว้ทุกด้านแล้ว และน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด พร้อมดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยยึดหลัก “สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย” เป็นสำคัญ
ด้านนายอรรถวิชช์ กล่าวว่า คำพิพากษาวันนี้ ได้ไปเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นคนละระบบเลือกตั้ง ซึ่งเกณฑ์นี้ กกต.ตั้งใจมาตั้งแต่ต้น และเป็นการย้ำชัดอีกครั้งหนึ่งว่าคำพิพากษา กกต.สามารถกำหนดเกณฑ์ 10 เปอร์เซ็นต์นี้ได้ และในอนาคต กกต.เพียงไม่กี่ท่านสามารถกำหนดเขตอย่างไรก็ได้ตามที่ กกต.เห็นควร จะเห็นได้ว่ารูปแบบการแบ่งเขตมี 4 แบบ ซึ่งแบบที่กกต.เลือกแบบที่ 1 มีประชาชาชนเห็นด้วยกับรูปแบบนี้เพียงคนเดียว ขณะที่รูปแบบที่ 3 ที่ควรจะเป็นและคุ้นเคย มีประชาชนเห็นด้วยถึง 403 คน แต่สุดท้ายก็ออกตามที่ กกต.เลือก แต่ถึงอย่างไรเราพร้อมสู้ทุกรูปแบบ เพราะผู้สมัครของพรรคเราในเขต กทม.ก็ใหม่หมด
“วันนี้ที่ผมมาร้องจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา ผมไม่คิดว่าพรรคชาติพัฒนากล้าจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอะไรในเรื่องนี้ แต่มันทำให้ระบบ ส.ส.ความเป็นผู้แทนเปลี่ยนแปลงไป” นายอรรถวิชช์ กล่าว