สสว. จับมือ UN Women สร้างความเสมอภาคผู้ประกอบการสตรี
สสว. ลงนาม MOU องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ มุ่งเน้นสร้างความร่วมมือความเสมอภาคทางเพศและสร้างผู้ประกอบการสตรีที่เข้มแข็ง
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สสว. และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ว่า สสว. ให้ความสำคัญสูงสุดกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย มุ่งเน้นการเสริมสร้างโอกาสในการเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจโดยการกำหนดนโยบาย และกลยุทธ์การส่งเสริม MSMEs ตลอดจนดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการเติบโตของผู้ประกอบการ
ผอ.สสว. เผยว่า สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ จะเน้นใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและเพิ่มบทบาทของผู้ประกอบการสตรีโดยเน้นที่ความหลากหลายของผู้จัดหาและการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความเสมอภาคทางเพศในประเทศไทย ผ่านการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเน้นเรื่องการศึกษางานวิจัยร่วมกัน หรือ การทบทวนนโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้ประกอบการสตรี เพื่อการเติบโตและการสร้างงานที่เหมาะสมผ่านการศึกษากฎระเบียบ การทบทวนนโยบายที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและเอกชน
2.สร้างโอกาสทางการค้าที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ผ่านการเชื่อมโยงผู้ประกอบการสตรี หรือองค์กรที่ใส่ใจความเสมอภาคทางเพศเข้ากับผู้ซื้อภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ (การเชื่อมต่อด้านอุปสงค์และอุปทาน) และ 3. ส่งเสริมโมเดลธุรกิจและเครือข่ายให้มากขึ้น โดยเริ่มจากการส่งเสริมกิจกรรมภายใต้โครงการ WE RISE Together ของ UN Women ซึ่งมุ่งที่จะขยายโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการผู้หญิงผ่านการสร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่หลากหลาย และการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ หรือ Supplier Diversity through Gender-Responsive Procurement (SD-GRP) ในประเทศไทยและเวียดนาม
“UN Women เป็นหน่วยงานย่อยของสหประชาชาติที่มีภารกิจในการส่งเสริมเรื่องความเสมอภาคทางเพศ และส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของสตรี ดังนั้น การที่ สสว. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ จึงเป็นการให้ความสำคัญของความเสมอภาคทางเพศและการส่งเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของสตรี” นายวีระพงศ์ กล่าว
นางสาวซาร่าห์ นิบบ์ส รักษาการผู้อำนวยการภูมิภาค สำนักงาน UN Women ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นการเปิดประตูไปสู่การค้าที่ยุติธรรม โอกาสทางเศรษฐกิจ และนวัตกรรมที่ไม่เพียงจะช่วยอุดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แต่ยังไปลดความเหลื่อมล้ำทางเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย