ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 47 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น สูงสุดในรอบ 47 เดือน โดยมีปัจจัยมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ตลอดจนการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ ส.อ.ท. ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.9 ในเดือนมกราคม สูงสุดในรอบ 47 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิตตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน และอานิสงส์การเปิดประเทศของจีน ขณะเดียวกันการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ตลอดจนการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ต้นทุนประกอบการประเภทราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน

สำหรับปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้มาจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่หดตัวลง เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอย ขณะที่สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อสูงในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นความเสี่ยงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของภาคเอกชน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 101.1 ในเดือนมกราคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้น โดยมีแรงผลักดันจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ และการลงทุน รวมถึงการจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีนจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1) ขอให้ภาครัฐเร่งการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงานเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล 2) เสนอให้ภาครัฐบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password