MPI เดือน ม.ค. ขยายตัวร้อยละ 6.61 จากการบริโภคในประเทศฟื้นตัว
ดัชนี MPI เดือน ม.ค. ขยายตัวร้อยละ 6.61 จากการบริโภคในประเทศฟื้นตัวหลังเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวขยายตัว สศอ. คาด MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคมปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 6.61 เมื่อเทียบจากเดือนก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ร้อยละ 62.31 มาจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี อาทิ การกลั่นน้ำมัน รถยนต์ จักรยานยนต์ รองเท้า กระเป๋า และเครื่องดื่ม ถึงแม้อุปสงค์ในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญของโลกทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา และฐานในปีก่อนอยู่ในระดับสูง
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ระดับ 99.82 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวในเดือนมกราคม 2566 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม จากการเดินทางที่ขยายตัวขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเดินทางในเทศกาลปีใหม่ ยานยนต์ จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ตลาดส่งออกขยายตัว และน้ำมันปาล์ม จากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อนและการส่งออกที่ขยายตัว
ทั้งนี้ คาดการณ์ดัชนี MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หลังได้รับแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช้อปดีมีคืน หนุนการบริโภคในประเทศ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานและกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้า
ทั้งนี้ สศอ.ได้ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2566 คาดว่าขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศประกอบกับประเทศจีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวโดยเฉพาะในภาคบริการ และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ รวมถึงในปีนี้จะมีการเลือกตั้งที่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตามในปีนี้ ได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทิศทางราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง