‘โมเดลสางหนี้’ สถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ – ‘ต้นแบบ’ ที่ ‘ออมสิน’ ต้องขยายผล!
โมเดลในการแก้ไขปัญหนี้สินของ “สถาบันการเงินชุมชุมบัลลังก์ – กองทุนหมู่บ้านฯ” อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ที่ธนาคารออมสินได้สร้างขึ้นมาในครั้งนี้ สมควรจะถูกนำไปเป็น “ต้นแบบ” ในการแก้ไขปัญหาให้กับสถาบันการเงินชุมชนทั่วประเทศ ที่กำลังประสบชะตากรรม “ผู้บริหารไร้ความสามารถ – ฉ้อฉล” ไม่ต่างกัน หากทำได้ ตำแหน่ง “ธนาคารเพื่อสังคม” ก็จะอยู่ในหัวใจของคนไทยตลอดไป
ตกเป็นข่าวคึกโครม! เมื่อช่วงก่อนหน้านี้ สำหรับกรณี สถาบันการเงินชุมชุมบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา หลังจาก “สื่อมวลชนกระแสหลัก” โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์หลายช่อง ต่างโหมประโคมข่าวอย่างต่อเนื่อง ถึงปมปัญหาความล้มเหลวในการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชุมฯแห่งนี้
มีการพาดพิงไปถึง “แหล่งเงิน” ที่ สถาบันการเงินชุมชุมบัลลังก์ ได้ทำการกู้เงินโดยตรงจาก ธนาคารออมสิน ราว 3 ล้านบาท และเงินส่วนใหญ่อีกกว่า 32 ล้านบาท ที่ได้รวบรวมมาจาก ลูกหนี้และกองทุนหมู่บ้านจำนวน 16 กองทุนในอำเภอโนนไทย มาบริหารจัดการไว้กับตัวเอง ซึ่งก็เป็นเงินที่ทุนกองทุนฯเหล่านี้ กู้มาจากธนาคารออมสินเช่นเดียวกัน
แต่สุดท้าย การบริหารล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง! กลายเป็นปัญหาคาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้
ปมอันเป็นที่มาของปัญหาดังกล่าว ไม่เพียง…คณะผู้บริหารสถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ จะขาดความเป็น “มืออาชีพ” ในการบริหารจัดการเงินก้อนโต จนเกิดเป็นความล้มเหลวตามมา…
หากยังมีเสียงร่ำลือจาก สมาชิกและผู้บริหารกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ได้โอนเงินก้อนโตไปกองไว้กับสถาบันการเงินแห่งนี้…มากกว่า 32 ล้านบาท!!! แม้บางส่วนจะเป็น “เงินเก่าคงเหลือ” จากการดำเนินงาน บางส่วนเป็น “เงินฝาก” ของสมาชิกฯ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็น “เงินกู้ก้อนใหม่” ที่ 16 กองทุนหมู่บ้าน ได้กู้ยืมเป็น…วงเงินโอดีจากธนาคารออมสิน ถึงกองทุนละ 1 ล้านบาท รวม 16 ล้านบาท นั่นเอง
เสียงร่ำลือที่ว่า คือ…“ความไม่โปร่งใส” ในการดำเนินงานของ คณะผู้บริหารสถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ ซึ่งในนั้น ก็มี ประธานกองทุนกองทุนหมู่บ้านทั้ง 16 กองทุน ร่วมเป็นกรรมการสถาบันการเงินชุมชนฯ รวมอยู่ด้วย
“ทีมข่าวยุทธศาสตร์” มีโอกาสติดตาม คณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สิน(พิเศษ) ตามนโยบายรัฐบาล ของธนาคารออมสิน ลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ถึงแนวทางแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา และได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกถึงปมปัญหาข้างต้น กล่าวคือ…
ย้อนหลังกลับเมื่อปี 2555 หลังจากมีการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ไปแล้ว สถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ เริ่มประสบปัญหาในการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ที่ได้กู้ยืมเงินไป เนื่องจากไม่สามารถเรียกเก็บชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของธนาคารออมสิน ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกองทุนหมู่บ้านฯไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขที่มี และยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
“เมื่อปี 2560 ธนาคารออมสิน สาขาโนนไทย ได้ส่งเรื่องให้ ศูนย์ควบคุมและบริหารหนี้เขตนครราชสีมา 2 ดำเนินการฟ้องร้องคดี ซึ่งบางส่วน (8 กองทุนฯ) ได้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีและมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ที่เหลือ (5 กองทุนฯ) อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดี และ (3 กองทุนฯ) อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้” แหล่งข่าวจากธนาคารออมสิน ระบุและว่า…
จะเห็นได้ว่า…การดำเนินงานของ สถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ มีการดำเนินงานที่ประสบปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากมีการปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้บางรายเป็นวงเงินที่สูงมาก แต่ไม่สามารถจะเรียกเก็บคืนได้ จนส่งผลกระทบต่อเงินทุนที่ได้มาจากการกู้เงินของกองทุนหมู่บ้านอีกทอดหนึ่ง ทำให้ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ถูกธนาคารออมสินฟ้องร้องดำเนินคดี เนื่องจากไม่สามารถนำเงินมาชำระคืนได้ตามสัญญา เกิดความรู้สึกไม่พอใจ…ผู้บริหารสถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ จึงรวมตัวร้องเรียนไปยัง…หน่วยงานราชการและสื่อมวลชน
จนมีการผูกโยงเรื่องราวเกินจินตนาการ และสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของธนาคารออมสินตามมา ทั้งที่ความผิดพลาดจากการบริหารเงินกองทุนของ สถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธนาคารออมสินแต่อย่างใด
แหล่งข่าว ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีแรงยุจาก “บุคคลภายนอก” ที่เสียผลประโยชน์จากการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากคนที่ตนสนับสนุนพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยทำการผูกโยงไปถึงเงินกู้ที่นักการเมืองท้องถิ่นบางคน ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้บริหารสถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ ได้รับจากการปล่อยกู้ครั้งนั้นเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก เพื่อนำไปใช้ดำเนินงานในทางการเมือง พร้อมกันนี้ ยังยุยงให้ชาวบ้านรวมตัวกันไปร้องเรียนสื่อมวลชนและนำเสนอข่าวสารข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงตั้งทีมทนายความขึ้นมาเพื่อต่อสู้คดีกับธนาคารออมสินที่ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับกองทุนหมู่บ้านไปก่อนหน้านี้
“แม้จะมี การยุยงปลุกปั่นจากบุคคลภายนอก และจำนวนชาวบ้านที่หลงเชื่อจะมีไม่มากนัก แต่ธนาคารออมสินก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามจะสร้างความเข้าใจและนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ ได้เข้าใจถึงสิ่งที่ธนาคารออมสินกำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” แหล่งข่าว ย้ำ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการบรรเทา ทาง คณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ ได้พิจารณาแนวทางการแก้ไข โดยให้ สถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ ไปเร่งดำเนินการสรุปยอดหนี้ของสมาชิกที่ยื่นกู้ตั้งแต่ต้น และสรุปยอดภาระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย รวมถึงยอดภาระหนี้คงเหลือของแต่ละกองทุนฯที่ให้สถาบันฯ และให้กระทบยอดว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด ที่ คณะกรรมการบริหารของสถาบันฯ จะต้องรับผิดชอบ
อีกทั้ง ธนาคารออมสินยัง ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้รอบใหม่ กำหนดการผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี สำหรับกองทุนหมู่บ้านฯที่ได้ดำเนินคดี หรือเคยมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาก่อนแล้ว และ กำหนดการผ่อนชำระไม่เกิน 7 ปี สำหรับกองทุนหมู่บ้านณที่ยังไม่เคยถูกดำเนินคดี หรืออยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม…มีอย่างละ 8 กองทุนฯเท่ากัน โดย กลุ่มแรก (5 ปี) กำหนดให้เปิดบัญชีเงินฝากของแต่ละหมู่บ้าน “ฝากเพื่อชำระหนี้คืน ธนาคารออมสินสาขาโนนไทย” โดย ศูนย์ควบคุมและบริหารหนี้เขตนครราชสีมา 2 เป็นผู้ควบคุม ขณะที่ กลุ่ม 2 (7 ปี) ยังแยกออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ 5 กองทุนฯที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดี และอีก 3 กองทุนฯที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ทั้งนี้ ธนาคารออมสิน พร้อมจะเลื่อนการพิจารณาคดีของศาลออกไป หากสามารถชำระได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็พร้อมจะถอนฟ้องในโอกาสต่อไป โดยมอบหมายให้ ศูนย์ควบคุมและบริหารหนี้เขตนครราชสีมา 2 เป็นผู้ควบคุม เช่นกัน
ล่าสุด จากการลงพื้นที่ ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” ได้รับการยืนยันจาก นายชยพล สุขสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาหนี้ ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นหนึ่งใน คณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ ว่า จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบโดยตรงในการแก้ไขปัญหนี้ของ สถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ และ กองทุนหมู่บ้านฯที่เข้าร่วมโครงการฯทั้ง 16 กองทุนหมู่บ้าน ทำให้ปัจจุบัน สมาชิกที่เป็นชาวบ้านใน ต.บัลลังก์, ลูกหนี้ฯ รวมถึงผู้บริหารของกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ ต่างรับรู้และเข้าใจในเจตนารมณ์ที่ดีของธนาคารออมสิน และทำให้กลุ่มชาวบ้านที่ถูกยุยงจากบุคคลภายนอกเริ่มมีจำนวนน้อยลง อีกทั้งยังเริ่มกลับมาร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ เพื่อจะได้ออกจากปัญหาเดิม และสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่จะมีเข้ามาในอนาคตอันใกล้
ด้าน นายภาณุวิชญ์ รัตนรักษ์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาโนนไทย กล่าวกับ “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” ว่า แม้ตนจะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการฯสาขาโนนไทยได้ไม่นาน แต่ได้ติดตามข่าวสารข้างต้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนโยบายที่สาขาได้รับมาคือ ต้องอำนวยประโยชน์เพื่อให้มีการชำระคืนหนี้ให้มากที่สุด ทั้งนี้ ตนจึงได้นัดหมายกับชาวบ้านในพื้นที่ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารฯว่าจะนำรถโมบายของธนาคารมารับฝากชำระหนี้ในทุกๆ ช่วงบ่ายของวันอังคารและพฤหัสบดี พร้อมกับย้ำกับชาวบ้านว่า ครั้งนี้ถือเป็นการโอกาสทองที่จะได้ล้างหนี้สิน ซึ่งไม่เพียงธนาคารฯจะผ่อนปรนในเรื่องเทอมการชำระเงินไม่เกิน 5 ปี และไม่เกิน 7 ปีตามเงื่อนไขข้างต้น หากยังเป็นช่วงที่ลูกหนี้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและค่าปรับใดๆ หากยังอยู่ในเงื่อนไขการชำระเงินของธนาคารฯ นอกจากนี้ ลูกหนี้ยังมีโอกาสที่จะได้รับเงินกู้ก้อนใหม่จากธนาคารฯ หากได้รับการจัดชั้นให้เป็นลูกหนี้ชั้นดี รวมถึงเงินกู้จากแหล่งเงินอื่นๆ เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งเท่าที่ทราบ รัฐบาล โดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ อาจมีการพิจารณาเติมเงินให้กับกองทุนฯอีกแห่งละ 200,000 บาท ซึ่งลูกหนี้ชั้นดีก็น่าจะได้รับโอกาสนี้ก่อน..
โดยระหว่างนี้…ได้มีลูกหนี้จำนวนมากได้ทำการฝากเงินเพื่อชำระหนี้คืนฯกับสาขาโนนไทย และส่วนใหญ่ลูกหนี้ ซึ่งเป็นชาวบ้านใน ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย บอกกับ “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” ว่า…พวกเขาพร้อมจะชำระหนี้คืนด้วยการฝากเงินกับธนาคารออมสิน อย่างน้อยขั้นต่ำก็เดือนละ 500 – 1,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อรักษาสภาพความเป็นลูกหนี้ชั้นดีต่อไป
ถึงบรรทัดนี้ “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” ได้เล็งเห็นถึง เจตนารมณ์ที่ดี ของฝ่ายที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับลูกหนี้ และสมาชิกฯ รวมถึงผู้บริหารของทั้งกองทุนหมู่บ้านฯและสถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ ขณะเดียวกัน ก็รู้สึกเป็นกังวลใจ กรณีที่ชาวบ้านบางกลุ่มยังคงหลงเชื่อในคำยุยงของบุคคลภายนอก ซึ่งสูญเสียประโยชน์จากการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯและสถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ ที่แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็เป็นเสมือน “ก้อนกรวดในรองเท้า” สร้างความรำคาญใจให้กับผู้สวมใส่ทุกครั้งไป…
จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ตัวแทนของธนาคารออมสิน ทั้งจาก…สำนักงานสาขาโนนไทย และ ศูนย์ควบคุมและบริหารหนี้เขตนครราชสีมา 2 จำต้องเร่งสร้างทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และไม่ปล่อยให้ใครหรือองค์กรใด? มาปลุกปั่นและเป่าหูชาวบ้านให้หลงผิดเหมือนเช่นที่แล้วๆ มา
ขณะเดียวกัน “โมเดล” ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของ 16 กองทุนหมู่บ้านฯ และสถาบันการเงินชุมชนบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา นั้นก็ควรที่ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จะได้นำไปเป็น “ต้นแบบ” เพื่อปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ซึ่ง “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” เชื่อว่า…น่าจะมีปัญหาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
เป้าหมายก็เพื่อ…แก้ไขปัญหาหน้าภาคครัวเรือน ที่ถือเป็นอีกปัญหาหนักอกของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา
หาก “โมเดล” การแก้ไขปัญหาหนี้สินของสถาบันการเงินชุมชนและกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ธนาคารออมสิน ได้สร้างเป็น “ต้นแบบที่ดี” ให้แก่พื้นที่อื่นๆ ได้แล้ว…ตำแหน่ง “ธนาคารเพื่อสังคม” ก็จะยังคงอยู่ในหัวใจของคนไทยทั่วประเทศสืบต่อไป…ตราบเท่านาน!.