อัครา จับมือ จุฬาฯสร้างโอกาสธุรกิจใหม่จาก ‘หางแร่’ เหลือใช้

อัครา รีซอร์สเซส ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของการใช้ประโยชน์จาก ‘หางแร่ (Tailings)” ที่เกิดจากการกระบวนการผลิตแร่ทองคำและเงินให้กลายเป็นแร่เศรษฐกิจ (Economic Minerals) แห่งอนาคตที่สามารถนำมาผลิตวัสดุก่อสร้างคุณภาพสูง พร้อมเตรียมแผนสร้างโอกาสธุรกิจของวิสาหกิจในชุมชนนำร่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่การเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีการบริหารจัดการของเสียให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และความจำเป็นในการจัดการ ‘หางแร่’ เหลือใช้จากการประกอบโลหกรรมใน ‘เหมืองแร่ทองคำชาตรี’ ให้สามารถนำหางแร่กลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาแนวทางการใช้หางแร่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอิฐบล็อก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีความแข็งแรงเหนือกว่าอิฐบล็อกทั่วไป โดยวางแผนถ่ายทอดความรู้การผลิตและการจัดจำหน่ายในพื้นที่นำร่องจังหวัดพิจิตรและจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อกระจายรายได้และสร้างอาชีพให้กับชุมชนรอบเหมือง

ดร.พีท หอมชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเหมืองแร่กับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหางแร่ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการแต่งแร่ โดยการนำมาพัฒนาเป็นอิฐบล็อกคุณภาพสูงที่มีความแข็งแรงและทนทานกว่าอิฐทั่วไป

นอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติแล้ว ยังช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในกระบวนการก่อสร้าง สร้างศักยภาพของชุมชนและรายได้ให้กับชุมชนรอบเหมือง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาว

ความร่วมมือในครั้งนี้มี บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จะให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยปีละ 3,000,000 บาท ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อผลักดันการศึกษาเชิงลึกและพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password