ปลัดอุตฯ เผย ผลสำเร็จกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ติดปีกผู้ประกอบการไทย

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ยินดีที่เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยการสนับสนุนทางการเงินและองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยผลความสำเร็จที่วัดได้ด้วยการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของกองทุนฯ และนำเงินทุนที่ได้ไปต่อยอดให้ธุรกิจดำเนินไปได้ และมีทิศทางเติบโตในอนาคต

โดยหนึ่งในตัวแทนผู้ประกอบการไทยที่ได้เป็นลูกค้าของกองทุนเปิดเผยถึงประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการฯ ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งเงินทุน และเสริมสร้างเป็นโอกาสเรียนรู้การจัดการธุรกิจด้วยมุมมองใหม่ คือ นายวิธิชัย
ตัณฑพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ เจ้าของและผู้ก่อตั้งแบรนด์ K Garden Fence ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายรั้วตาข่ายคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีจากออสเตรเลีย ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากการแก้ปัญหาที่พบเจอในการทำฟาร์มของตนเอง ทำให้เกิดการพัฒนาระบบรั้วที่ทนทาน ใช้งานได้นานถึง 40 ปี ช่วยประหยัดต้นทุนระยะยาวให้เกษตรกร ซึ่งสินค้าของ K Garden Fence มีจุดเด่นด้านความทนทานต่อทุกสภาพอากาศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นสนิม และได้รับมาตรฐาน มอก. อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น เสาเข็มเหล็ก และ พัดลมอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน พร้อมบริการหลังการขายครบวงจร อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ K Garden Fence เผชิญคือ กำลังการผลิตไม่เพียงพอ และ ขาดแคลนเครื่องจักร ที่ทันสมัย รวมถึงเงินทุนในการลงทุนต่อยอด ทำให้ไม่สามารถขยายตลาดได้ตามที่วางแผนไว้
“ตอนนั้นเรารู้สึกเหมือนธุรกิจถูกเบรก ทั้งที่ความต้องการของลูกค้ากำลังมาแรง และทางบริษัทฯ ได้เล็งเห็นโอกาสจากโครงการ “โตไว ไทยยั่งยืน” จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมทันที โดยได้รับสินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่มูลค่า 2.8 ล้านบาท ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างชัดเจน และต่อยอดด้วย “โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ” หรือ “โครงการเสือติดปีก” อีก 10 ล้านบาท สำหรับลงทุนเครื่องจักรในสายการผลิตพัดลมอุตสาหกรรม ทำให้ K Garden Fence สามารถเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานและฟาร์มที่ต้องการพัดลมประหยัดพลังงาน ส่งผลให้ ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 30% และในวันนี้ K Garden Fence ยังคงมีแผนพัฒนา มอเตอร์พัดลมรุ่นใหม่ระดับโลก ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าจะเติบโตได้อีกไกลด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ” นายวิธิชัย กล่าว
และอีกหนึ่งความสำเร็จของผู้ประกอบการไทย คือ Butterfly Organic ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคภายใต้แนวคิด ธรรมชาติสร้างสุขภาพ สินค้าหลักคือนมโคแท้ออร์แกนิค โยเกิร์ตออร์แกนิค และเครื่องดื่มน้ำนมจากพืช โดยทุกผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ 100% ไม่แต่งกลิ่น ไม่ใส่สารควบแน่น และผ่านมาตรฐานสากล และเป็นบริษัทแรกในอาเซียนที่ได้รับการรับรอง USDA Organic จากสหรัฐอเมริกา รวมถึงมาตรฐาน GHPs, HACCP และฮาลาล

นายเอนก ปิ่นวนิชย์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Butterfly Organic กล่าวว่า แม้จะให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าออร์แกนิกมาก แต่ความท้าทายหลักคือ การบริหารจัดการภายในโรงงานที่ยังเป็นระบบเดิมที่ใช้แรงงานคน ทำให้การผลิตใช้เวลานาน ต้นทุนในการบริหารจัดการสินค้าสูง และไม่สามารถตอบรับกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นได้ทัน และยังมีต้องการเสริมสภาพคล่อง เพื่อให้กิจการเดินหน้าและพร้อมลงทุนในช่วงจังหวะสำคัญ
ทาง Butterfly Organic จึงเข้าร่วมทั้ง โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) และ โครงการพัฒนาธุรกิจด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) จากโครงการคงกระพัน ได้รับสินเชื่อ 5 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง และจากโครงการพัฒนาธุรกิจด้วยดิจิทัล ได้รับการสนับสนุนจากทีมผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ระบบภายในและจัดทำแผนพัฒนาโรงงานให้เป็นกึ่งอัตโนมัติ รวมถึงวางระบบคลังสินค้าใหม่
“โครงการนี้ไม่ได้ให้แค่เงินทุน แต่ให้ระบบที่ SME ต้องมีจริง ๆ ให้โอกาสเราได้เรียนรู้การจัดการธุรกิจด้วยมุมมองใหม่ ซึ่งการลงทุนในระบบ ERP ทำให้การตัดสินใจมีข้อมูลแม่นยำ ลดของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพ และวางแผนการผลิตล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างเป็นระบบ ปัจจุบัน Butterfly Organic มีแผนขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศในแถบเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับเด็กและผู้สูงอายุ โดยมั่นใจว่าพื้นฐานจากโครงการของกองทุนฯ จะทำให้พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของไทยในระดับสากล” นายเอนก กล่าว
โดยเร็วๆนี้ กองทุนฯ เตรียมโครงการส่งเสริมและพัฒนา SMEs จำนวน 4 โครงการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ได้แก่
- โครงการเสริมแกร่งการเงิน เพิ่มทุนหนุนธุรกิจ (สุขใจ): เน้น Financial Literacy และการเข้าถึงแหล่งทุน
- โครงการยกระดับธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (เปิดใจ): เน้น Digital และ BCG ในอุตสาหกรรมศักยภาพ
- โครงการพัฒนาฮาลาลไทย รับรองได้ ขายส่งออกชัวร์ (มั่นใจ): เน้นมาตรฐานฮาลาลและการขยายตลาดส่งออก
- โครงการพลิกชีวิต ฟื้นธุรกิจ ปรับหนี้ให้อยู่รอด (สู้สุดใจ): มุ่งช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนที่ประสบปัญหาหนี้สินให้ฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ โดยจะได้รับการบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพธุรกิจจากสถาบัน เครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเปิดรับสมัครตั้งเเต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 -15 สิงหาคม 2568 รับจำนวนจำกัด สมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://i.industry.go.th หรือ www.thaismefund.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ.