ก.อุตฯ จับมือ METI ขับเคลื่อนความร่วมมือพลังงานและอุตสาหกรรม ไทย-ญี่ปุ่น

กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) จัดประชุมกลไกการหารือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม ไทย–ญี่ปุ่น (EID) ครั้งแรก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมยานยนต์ สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไทย ให้พร้อมรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีการลงนาม MOU ระหว่างภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาของทั้งสองประเทศ รวมถึงการจัดเวทีเสวนาระดับสูง เพื่อวางรากฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจระยะยาวระหว่างไทยและญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปธรรม

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชามอบหมายให้ขับเคลื่อนด้านสารัตถะ และนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ประธานร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น สำหรับการประชุมกลไกการหารือไทย-ญี่ปุ่นว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy and Industry Dialogue: EID) โดยได้มีการจัดประชุม EID ครั้งที่ 1 เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล กรุงเทพฯ โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยประสานงานหลักร่วมกับ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy Trade and Industry : METI)

ทั้งนี้ ในการประชุม EID ครั้งที่ 1 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันให้การรับรองถ้อยแถลงร่วมกลไกการหารือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม (Joint Statement of the Energy and Industry Dialogue) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ ได้แก่ การส่งเสริมแนวทางที่หลากหลาย (Promotion of Multi-Pathway) เพื่อตระหนักว่าไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์แห่งอนาคต การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตของไทยโดยการลดปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิตในห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์ประเภทต่าง ๆ และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่ลดคาร์บอน

ขณะที่ การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Promotion of Circular Economy) เพื่อการส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศสำหรับการกำจัดเศษและรีไซเคิลรถยนต์เก่าได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งการจัดสร้างระบบรีไซเคิลยานยนต์ การจัดตั้งกรอบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจการแยกชิ้นส่วนและรีไซเคิล ภายใต้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศ การตระหนักรู้การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน และ การดูแลรักษาและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและทรัพยากรบุคคลให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงการสนับสนุน SMEs โดยเน้นย้ำความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยซึ่งได้ดำเนินการผ่านความร่วมมือที่หลากหลายระหว่างผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งในญี่ปุ่นและไทย

รวมทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมการแนะนำเทคโนโลยีแห่งอนาคตมาใช้อย่างต่อเนื่อง และการทำงานร่วมกันในรูปแบบหุ้นส่วนภาครัฐ-เอกชนเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล ทั้งในด้านการส่งเสริมแนวทางที่หลากหลาย การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต่อยอดพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดร่วมกัน

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้แสดงความขอบคุณภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ของญี่ปุ่นที่ได้ให้โอกาสประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนในหลายสาขาอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสนับสนับสนุนทางวิชาการ และการพัฒนาบุคลากรของไทยโดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่าง ๆ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมยึดมั่นนโยบายที่เปิดกว้างและสนับสนุนผู้ผลิตนานาชาติอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เกิดความหลากหลายและการแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้นโยบายในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางความร่วมมือ ทั้งไทยและญี่ปุ่น โดยการส่งเสริมแนวทางที่หลากหลายที่เป็นการสร้างความเข้มแข็งของการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน อีกทั้งยังรวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ให้ผู้ประกอบการไทยให้สามารถมีส่วนร่วมในห่วงโซ่ การผลิตที่สำคัญของยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตในการก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของทั้งสองประเทศ

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า นอกจากการประชุม EID ครั้งที่ 1 แล้ว รัฐมนตรีของไทยและญี่ปุ่น ได้ให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างหน่วยงานภาคธุรกิจและสถาบันวิชาการของไทยและญี่ปุ่นเพื่อร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม และกล่าวเปิดกิจกรรมการเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สําหรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต” ในประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา เพื่อกระชับความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น โดยมีผู้แทน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมอภิปรายจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างเป็นรูปธรรม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password