บสย. ประชุม Town Hall Meeting ยกระดับองค์กร ช่วยเหลือ SMEs ทุกมิติ

บสย. จัดประชุม Town Hall Meeting ครั้งที่ 1/2568 ภายใต้แนวคิด “บสย. ฮีโร่ของคนตัวเล็ก” ตอกย้ำพันธกิจสร้างความแข็งแกร่งให้ SMEs ไทย ปลุกใจพนักงานร่วมยกระดับ ขับเคลื่อนองค์กร พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกัน มุ่งตอบโจทย์ความต้องการ SMEs ทุกมิติ
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดงานประชุมพนักงานทุกระดับครั้งที่ 1/2568 (The 1st Town Hall Meeting 2025) รูปแบบ Hybrid Meeting ภายใต้แนวคิด “บสย. ฮีโร่ของคนตัวเล็ก” นำโดย นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ และสำนักงานเขตทั่วประเทศ กว่า 400 คน ร่วมกิจกรรม ณ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สุขุมวิท เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568

นายสิทธิกร กล่าวว่า การจัดประชุม Town Hall Meeting ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งเป็นครั้งแรกของปี 2568 ตอกย้ำวิสัยทัศน์ในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเงินทุนและโอกาสให้กับ SMEs ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. และศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน (บสย. F.A. Center) พร้อมเป้าหมายในการขยายบทบาทการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทย ผ่านการยกระดับองค์กรในด้านต่างๆ โดยปลุกพลังของพนักงานทุกคนผสานความร่วมมือ พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดปี 2568 ท่ามกลางความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และปัจจัยแวดล้อมด้านอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อผนึกกำลังพิชิตเป้าหมายองค์กรที่วางไว้ให้สำเร็จ โดยเดินหน้ายกระดับองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือ SMEs ในประเทศไทย เน้น 4 มิติหลัก ดังนี้
1.พัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ที่ตอบโจทย์ความต้องการ SMEs และพัฒนาช่องทางการให้บริการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2.พัฒนาเครื่องมือโมเดลวิเคราะห์ความเสี่ยงในรูปแบบข้อมูลทางเลือก (Alternative Credit Scoring Model) โดยนำเครื่องมือ Credit Scoring มาใช้ในการพิจารณา

3.ใช้ประโยชน์จาก Big Data มาวิเคราะห์ข้อมูลในมิติด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาโอกาสในการช่วยเหลือ SMEs มากยิ่งขึ้น
และ 4. ใช้ Digital Disruption เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กร เพื่อพัฒนาระบบงาน และบริการใหม่ ๆ ทางการเงินบน Virtual Banking
ในงานมีการสรุปผลดำเนินงาน บสย. ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 โดยมียอดค้ำประกันสินเชื่อ 8,162 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้รับสินเชื่อ 14,183 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SMEs) 89% ค้ำประกันเฉลี่ย 100,000 บาทต่อราย อีก 11% เป็น SMEs ทั่วไป ค้ำประกันเฉลี่ย 4.28 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 10,598 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 66,529 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 33,708 ล้านบาท สำหรับโครงการตามมาตรการรัฐ โครงการค้ำประกัน PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” มียอดค้ำประกันในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จำนวน 5,069 ล้านบาท เติบโตถึง 32.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในโครงการค้ำประกัน PGS 10 “บสย. SMEs เข้มแข็ง” ที่มียอดค้ำประกัน 3,833 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 28.2% 2. อาหารและเครื่องดื่ม 12.5% และ 3. เกษตรกรรม 8.4% ซึ่งทั้ง 3 ประเภทครองสัดส่วนค้ำประกันถึง 52% สะท้อนอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้

อีกผลงานที่โดดเด่นคือ ช่วยแก้หนี้ให้กับลูกหนี้ บสย. (ผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชย) ผ่าน มาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” (มาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว) ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้สามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ โดยปีนี้ บสย. ได้เปิดตัวมาตรการใหม่ เพื่อช่วยเหลือ SMEs “กลุ่มเปราะบาง” ที่มียอดหนี้เงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท สามารถปลดหนี้ได้เร็วและง่ายขึ้น คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ชำระครั้งแรกเพียง 500 บาท ผ่อนสูงสุด 80 เดือน ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ค่างวดขั้นต่ำเพียง 500-2,500 บาท และสามารถปลดหนี้ ลดต้น 30% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 6 งวด

ทั้งนี้ ตั้งแต่ออกมาตรการในปี 2565 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2568 สามารถช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ 19,472 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 12,431 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย. และในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ บสย. ยังได้จัดกิจกรรมเชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” ลงพื้นที่ปรับโครงสร้างหนี้ให้ SMEs ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี สามารถช่วยลูกหนี้ “ปลดหนี้” ได้ถึง 171 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับปี 2567
ไฮไลท์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2568 ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของ บสย. คือ การเปิดตัวครั้งแรกของผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะ “SMEs PICK-UP” ภายใต้มาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ที่ช่วยปลดล็อกให้ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย อาชีพอิสระ ที่มีความประสงค์ซื้อรถกระบะใหม่ในเชิงพาณิชย์ สร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ในการพิจารณาสินเชื่อ เพิ่มโอกาสให้ SMEs ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังช่วยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
สำหรับทิศทางตลอดปี 2568 บสย. จะเดินหน้าสานต่อการยกระดับ และพัฒนาการค้ำประกันสินเชื่อในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง เสริมสร้างกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการสนับสนุนทางการเงินให้ SMEs พร้อมเปิดตัวโครงการค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่ๆ เพื่อขยายการช่วยเหลือ SMEs ให้ครอบคลุมมากที่สุด.
You may also like
