ไร้สำนึก! ยอดคุมประพฤติ ‘เมาขับ’ 7 วันสงกรานต์ พุ่งกว่า 6 พันคดี

‘กรมคุมประพฤติ’สรุป 7 วัน สงกรานต์ 6,405 คดี ลดลงจากปีที่แล้ว 12.63% “เมาขับ” ยอดสูงน่าห่วง 6,100 คดี กรุงเทพฯ ครองแชมป์เมาขับสูงสุด 406 คดี

วันนี้ (18 เม.ย. 2568) พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ แถลงสรุป ยอดคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติในช่วง “7 วันควบคุมเข้มข้นสงกรานต์ 2568” (17 เม.ย.) โดยมี สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,177 คดี แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา 1,095 คดี ติดอุปกรณ์ EM จำนวน 12 ราย ขับรถประมาท 3 คดี และ คดีขับเสพ 79 คดี ติดอุปกรณ์ EM จำนวน 3 ราย

ยอดสะสม 7 วัน (11 – 17 เม.ย.) มีจำนวนทั้งสิ้น 6,405 คดี ลดลงจากปี 2567 (7,388 คดี) คิดเป็น 12.63% แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา 6,100 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.27 ขับรถประมาท 6 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.09 ขับซิ่ง 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.03 และขับเสพ 297 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.64
จังหวัดที่มี คดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 406 คดี สมุทรปราการ จำนวน 351 คดี และเชียงใหม่ จำนวน 302 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติ คดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี พ.ศ. 2567 มีจำนวน 7,131 คดี กับ ปี พ.ศ. 2568 จำนวน 6,100 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลง 1,031 คดี คิดเป็นร้อยละ 14.46

ในส่วนของ การติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือกำไล EM ตามคำสั่งศาล ในวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มข้นมีจำนวน 15 ราย ทำให้ยอดสะสม 7 วัน มีจำนวนทั้งสิ้น 52 ราย ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศเฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมงผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center – EMCC) พร้อมกำชับสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศประสานเครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัครคุมประพฤติ ลงพื้นที่ในการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่ง จังหวัดที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์ EM สูงสุด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร

สำหรับในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มข้น สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่างๆ โดยให้บริการประชาชนแจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น เครื่องดื่ม อำนวยความสะดวกจราจร ที่จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น รวมทั้งสิ้นจำนวน 307 จุด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ ผู้ถูกคุมความประพฤติ ภาคีเครือข่าย และประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 6,311 คน และกิจกรรมร่วมสังเกตพฤติกรรมการขับขี่ผ่านกล้องวงจรปิด (CCTV) แบบเรียลไทม์ โดยสำนักงานคุมประพฤติ 28 แห่ง ได้นำผู้ถูกคุมประพฤติเข้าร่วมกิจกรรมรวมจำนวน 165 ราย
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการคุมประพฤติที่มีต่อผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ ในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา จะแนะนำให้เข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำหรับ มาตรการทางกฎหมาย ผู้กระทำผิดจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม ที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ เช่น การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุในโรงพยาบาล รวมทั้ง พาทัวร์ห้องดับจิต เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและตระหนักถึงความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้น กรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข กรมคุมประพฤติจะรายงานกลับไปยังศาล เพื่อนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษมาบังคับใช้ ต่อไป.




You may also like
