EXIM BANK เชื่อ! โลกยังเดินหน้า Go Green ขันอาสาพาทุนไทยสู่ ‘นักรบเศรษฐกิจสีเขียว’ ฝ่ามรสุม ‘ทรัมป์ 2.0’

“ดร.รักษ์” เชื่อโลกยังเดินหน้านโยบาย Go Green แม้ “ทรัมป์ 2.0” จะหันหลังให้ ชี้! ช่องว่างเม็ดเงินสีเขียวยังพุ่งสูง 5 เท่าของ Climate Finance ที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2566 ส่วนไทยปล่อยได้แค่ 4 แสนล้านบาทจากดีมานด์เต็ม 7 ล้านล้านบาท เผย! EXIM BANK อาสานำผู้ประกอบการไทยฝ่ามรสุม ‘ยุคทรัมป์’ มุ่งพัฒนาระบบนิเวศ Green Export Supply Chain พร้อมเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน สร้างนักรบเศรษฐกิจสีเขียวในตลาดการค้าโลก

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า โลกจากวันนี้ไปจะยังคง Go Green (ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม) แม้รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีฯ โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีนโยบายการลดความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมลงก็ตาม เชื่อว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ต่อไป เห็นได้ชัดจากการที่ทั่วโลกได้ออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมรวมกันมากกว่า 18,000 ฉบับ และจะเพิ่มเป็น 20,000 ฉบับในเร็วๆ นี้ อีกทั้งภาคธุรกิจในไทยและในโลกยังคงต้องการเม็ดเงินสีเขียว (Climate Finance) อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ หน่วยงานระดับโลกอย่าง Climate Policy Initiative ประเมินว่า Climate Finance โลกปี 2566 อยู่ที่ราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แม้ว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา แต่ยังต่ำกว่าความต้องการที่ประเมินว่าสูงถึงราว 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วงปี 2567-2573 เท่ากับว่าโลกยังต้องการ Climate Finance เพิ่มขึ้นราว 5 เท่า ขณะที่ในไทยเองก็มีความต้องการสินเชื่อสีเขียวมากถึง 7 ล้านล้านบาท แต่ตอบสนองได้เพียง 4 แสนล้านบาท เท่านั้น
“จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าโลกยังมีรูม (ช่องว่าง) อีกมากมายมหาศาล จะมีอเมริกาหรือไม่มี โลกทั้งโลกจะต้อง Go Green” ดร.รักษ์ ระบุและว่า…

ที่ผ่านมา EXIM BANK มีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุน Climate Finance ของไทย และ EXIM BANK จะเดินหน้าต่อยอดความเชี่ยวชาญในฐานะ Green Development Bank เป็นผู้นำผู้ประกอบการไทยสยายปีกสู่ธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ส่งผลให้ Portfolio ที่สนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 40% ของ Portfolio ทั้งหมด และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2570
โดยในปี 2568 EXIM BANK มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจไทยผ่านความเชี่ยวชาญและพันธมิตรสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bank) โดยจะเร่งขยายฐานลูกค้าผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งด้านการสนับสนุนการส่งออกและการลงทุน เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานส่งออกสีเขียว (Green Export Supply Chain) และ ให้สิทธิประโยชน์และดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG บริการใหม่ของ EXIM BANK อาทิ บริการค้ำประกันหุ้นกู้ ให้แก่ลูกค้าที่ต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ แต่ยังมี Credit Rating ที่ไม่สูงพอที่จะทำให้ผู้ลงทุนสนใจและเชื่อมั่นที่จะลงทุนได้ โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อทำให้ Credit Rating ของหุ้นกู้อยู่ในระดับเทียบเท่ากับของ EXIM BANK คือ AAA (กรณีค้ำประกัน 100%) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนมากยิ่งขึ้น มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำ ผู้ออกหุ้นกู้มี Cost Saving เมื่อเทียบกับการออกหุ้นกู้ด้วย Credit Rating ของตนเอง ซึ่งช่วยให้สามารถออกหุ้นกู้ได้อายุยาวขึ้นและจำนวนที่มากขึ้น รวมถึงสามารถมีฐานผู้ลงทุนเป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันได้

นอกจากนี้ EXIM BANK ยังเป็น ที่ปรึกษาทางการเงิน ให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรือตราสารทุน รวมถึงการเข้าซื้อกิจการการควบรวมกิจการ (M&A) เป็นต้น ปัจจุบัน EXIM BANK ได้รับความเห็นชอบเป็นที่ปรึกษาทางการเงินจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2567 เป็นต้นมา ในอนาคต EXIM BANK จะให้บริการจัดจำหน่ายหุ้นกู้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ซึ่งถือเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบวงจร ช่วยให้ลูกค้ามีทางเลือกในการระดมทุนและจัดหาเงินทุนได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน EXIM BANK กำลังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (จัดจำหน่ายตราสารหนี้)
“EXIM BANK ยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมด้านธุรกิจและบริการที่จะนำไปสู่โมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน สอดคล้องกับทิศทางการค้าและการลงทุนในโลกปัจจุบันภายใต้นโยบายทรัมป์ 2.0 ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ขณะเดียวกัน ยังเต็มไปด้วยโอกาสใหม่ ๆ ทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวได้ทันและมีการวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.รักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้โลกปัจจุบัน จะอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบในยุค “ทรัมป์ 2.0” ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างประเทศ ตลอดจนผลกระทบต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะยังไปต่อได้ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุน คือ การท่องเที่ยว การใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าตามนโยบายทรัมป์ 2.0 หนี้ครัวเรือนยังสูงถึง 89% และภาคการผลิตยังฟื้นตัวไม่ทันในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปัจจัยส่งเสริมให้การส่งออกไทยปี 2568 ยังขยายตัวต่อได้ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกและนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ การเร่งนำเข้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โอกาสส่งออกของไทยทดแทนสินค้าจีน อาทิ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ แผงโซลาร์ โอกาสส่งออกสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ การย้ายฐานการผลิตจากต่างชาติเข้ามาในไทย เช่น ธุรกิจดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า การขยายตัวของตลาดใหม่ เช่น อินเดีย อาเซียน และตะวันออกกลาง และ การบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) เป็นข้อตกลง FTA ฉบับแรกระหว่างไทยกับประเทศในยุโรป (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์)

ขณะเดียวกัน ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ สินค้าไทยอาจโดนมาตรการจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่เกินดุลกับสหรัฐฯ สูง เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โทรศัพท์ เครื่องจักร หรือถูกบังคับให้นำเข้าเพิ่ม อาทิ สินค้าเกษตร น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สินค้าไทยที่อยู่ใน Supply Chain จีนได้รับผลกระทบ อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา สินค้าไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนที่ไหลทะลักเข้าสู่ไทยและตลาดโลก อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ ความผันผวนด้านต้นทุนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และ ค่าเงินที่ยังผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง

ดร.รักษ์ กล่าวอีกว่า นับแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2568 หลายประเทศทั่วที่วิตกกังวลต่อนโยบาย “ทรัมป์ 2.0” ทำให้เกิดการกักตุนสินค้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 แล้ว เชื่อปริมาณการส่งซื้อสินค้าจากไทยคงชะลอตัวลง หลังจากที่ได้กักตุนสินค้าไปก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม จากปัญหาสงครามการค้า ที่นำไปสู่การประกาศขึ้นภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ หากผู้ประกอบการที่ไม่สามารถจะลดต้นทุนการผลิต เพื่อไปชดเชยอัตราภาษีน้ำเข้าสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ควรจะหาตลาดใหม่ๆ เช่น ตลาดอาเซียนที่เติบโตสูงเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงตลาดเอเชียใต้ และตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งล่าสุด EXIM BANK ได้ร่วมมือกับ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เพื่อออกสินเชื่อฮาลาล รองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังกลุ่มประเทศอาหรับ
“ในภาวะที่โลกยังคงมีความเสี่ยง ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการได้หันมาใส่ “เสื้อเกราะ” ด้วยการบริหารความเสี่ยงในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกันความเสี่ยงจากการส่งออก, การทำ Packing Credit (บริการสินเชื่อเพื่อการส่งออก), Tranformation Loan ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจ” ดร.รักษ์ กล่าวและคาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในปี 2568 น่าจะเติบโตราว 3% ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่ของ EXIM BANK ในปีนี้ ยอมรับว่าคงจะไม่หวือหวาเหมือนช่วงผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 คาดว่าจะเติบโตในระดับ บวก/ลบ 0.6 – 1.0% เหมือนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากมองเฉพาะสินเชื่อสีเขียว ซึ่งมีสัดส่วนและอัตราการเติบโตมากสุดนั้น เชื่อว่าจะยังเติบโตที่ระดับ 7% เหมือนที่ผ่านมา.
