ทีทีบี สานต่อ ‘เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่’ เปิดเวที ให้เยาวชนรณรงค์การบูลลี่ในโรงเรียน


โครงการไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี กิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน มุ่งจุดประกายเยาวชน เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เดินหน้าสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจ ช่วยลดปัญหาการบูลลี่ในรั้วโรงเรียน สานต่อกิจกรรมการประกวด “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ในหัวข้อ “เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่” ประจำปี 2567 เปิดเวทีให้เยาวชนได้ร่วมกันทำงานเป็นทีมสร้างสรรค์โครงงานเพื่อร่วมรณรงค์ต่อต้านการบูลลี่ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลทุนการศึกษา ซึ่งการประกวดมุ่งเน้นให้แต่ละทีมนำโครงงานที่คิดไปปฏิบัติจริงในโรงเรียน และนำผลการทำโครงงานในระยะเวลา 3 เดือนกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการ โดยประกาศผลรอบชิงชนะเลิศเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การประกวดเท่ได้…ต้องไม่บูลลี่ แบ่งเป็นระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีมีโรงเรียนส่งใบสมัครเข้าร่วมมากกว่า 192 โรงเรียน รวมนักเรียนที่เข้าร่วมจำนวน 1,664 คน โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับมัธยมต้น ได้แก่ โรงเรียนระยองวิทยาคม จ.ระยอง ชื่อโครงงาน “บูลลี่ แก้ไม่ได้ แต่หยุดได้ ถ้าทุกคนช่วยกัน” และโรงเรียนซับนกแก้ววิทยา จ.สระแก้ว คว้ารางวัลชนะเลิศระดับมัธยมปลาย ด้วยโครงงานชื่อ Academic Expo “Say No Bully”

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า นอกจากพันธกิจที่ต้องการ Make REAL Change เพื่อให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นแล้ว ทีทีบียังมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบ B+ESG เพราะธุรกิจจะเติบโตได้ ต้องควบคู่กับสังคมที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งหนึ่งที่ทำต่อเนื่องถึงปัจจุบัน คือ กิจกรรมส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย “เท่อย่างไทย” โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี ซึ่งปีนี้ได้เพิ่มรูปแบบเป็น 3 กิจกรรมที่ยังคงเกี่ยวเนื่องกับ Life Skill สำคัญของเยาวชนไทย ได้แก่ การประกวดมารยาทไทย ประกวดทักษะการอ่านพูด รวมถึงกิจกรรม เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่ ล่าสุด ได้มีการจัด “กิจกรรม “เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่” รอบชิงชนะเลิศ ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ซึ่งหนึ่งในความน่าสนใจของกิจกรรมคือ เด็กต้องนำโครงงานที่คิดไปปฏิบัติจริง ทำให้ได้เห็นปัญหา สามารถรับมือกับอุปสรรคได้ และนำผลตอบรับที่ได้มานำเสนอและแชร์กันในวันตัดสินการประกวด โดยผลลัพธ์ที่ได้น่าพอใจมาก สะท้อนชัดว่าเด็กเข้าใจความหมายรู้จักรับมือ และหาแนวทางสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการรณรงค์ลดบูลลี่ เราอยากเห็นกิจกรรมดีๆ ถูกจุดประกายในทุกโรงเรียน เพราะการแก้ปัญหาบูลลี่ในโรงเรียนคือหนึ่งในจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยสร้างสังคมเท่าเทียมและปราศจากความรุนแรง ซึ่งเท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี จะสานต่อในปีต่อๆ ไป เพื่อให้เห็นพัฒนาการในการรณรงค์หยุดการบูลลี่ในโรงเรียนมากขึ้น และท้ายที่สุดอยากให้การบูลลี่หมดไปจากสังคมไทย”

พญ.กชวรรณ พลอยทับทิม จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ หนึ่งในคณะกรรมการ ให้ความเห็นว่า เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่ เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้ตระหนักร่วมกันเพื่อลดการบูลลี่ในโรงเรียน ซึ่งแต่ละโครงงานน่าชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์ และเป็นการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์จริง สะท้อนว่าเด็กเห็นถึงปัญหา มีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น อีกทั้งสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กๆ ทำให้ได้เห็นความสามารถอีกมุมหนึ่งของตัวเองในการพัฒนาศักยภาพ ที่นำมาใช้ได้จริงและสร้างผลลัพธ์จริง โดยการตัดสินจะพิจารณาเรื่องหลักๆ คือ โครงงานที่นำเสนอต้องนำไปใช้ได้และเห็นผลจริง รวมทั้งต้องมีเทคนิคการนำเสนอที่เข้าใจง่าย ทำให้เห็นภาพของกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าเด็กๆ ที่ร่วมกันทำโครงงานได้ประโยชน์แน่นอน แต่จะขยายผลได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับเทคนิคของน้องๆ ที่จะนำไปกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เสียงจากน้องๆ และคุณครู โรงเรียนซับนกแก้ววิทยา ทีมชนะเลิศระดับชั้นมัธยมปลาย มองว่า การบูลลี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกโรงเรียน จึงอยากร่วมกันรณรงค์เพื่อลดปัญหา และสานต่อเจตนารมณ์ของรุ่นพี่ที่ได้ริเริ่มเข้าประกวดในปีก่อน โดยปีนี้พยายามสร้างสรรค์โครงงานที่ตอบโจทย์ครอบคลุมมากขึ้น จึงเกิดเป็นเฟสติวัลเต็มรูปแบบ เพราะเราอยากทำให้เกิดผลระยะยาวสามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ และปีหน้าจะนำโครงการนี้บรรจุในงานเปิดบ้านวิชาการของโรงเรียนด้วย สิ่งที่เด็กๆ ได้จากการทำกิจกรรม ไม่ใช่แค่ความรู้และเข้าใจเรื่องการบูลลี่ แต่ยังได้ทักษะการอยู่ร่วมกัน รู้จักการแก้ปัญหา ฝึกความอดทน รวมทั้งทำให้เด็กมีไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ จากการเข้าฝึกอบรม สามารถนำไปต่อยอดใช้กับโครงการอื่นได้ ครูมองว่าเป็นกิจกรรมที่มาถูกทางและแก้ไขปัญหาสังคมได้ถูกต้องจริง

ด้านน้องๆ และคุณครู โรงเรียนระยองวิทยาคม ทีมชนะเลิศระดับชั้นมัธยมต้น สะท้อนว่า สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรม เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่ คือ มีความรู้และความเข้าใจเรื่องการบูลลี่มากขึ้น และด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันกับทีมและโรงเรียน คือ ต้องการลดการบูลลี่ได้จริง ก็พยายามช่วยกันคิดช่วยกันทำจนประสบผลสำเร็จคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก และจะนำโครงงานนี้ไปต่อยอดขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องการบูลลี่ อาทิ นำบทละครที่เพื่อนๆ ส่งเข้าประกวดไปทำคลิปสั้นเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย พวกเราดีใจที่ทีทีบีมีโครงการแบบนี้มาให้เด็กๆ จากทั่วประเทศได้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นการประกวดโครงงานที่ท้าทายมาก โครงงาน เท่ได้…ต้องไม่บูลลี่เป็นการประกวดที่ต้องมีแกนนำ และนำไปต่อยอดและปฏิบัติได้จริง เพื่อให้ทุกคนในโรงเรียนได้รับรู้ถึงกิจกรรม และช่วยกันรณรงค์การบูลลี่ หากทำได้จริง และทำได้เรื่อยๆ พวกเราก็คิดว่าสังคมในโรงเรียนก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
สามารถติดตามประกาศผลรางวัลต่างๆ และรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ “เท่อย่างไทย” โดย “ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ได้ที่ www.เท่อย่างไทย.com และติดตามกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ ได้ที่ www.ttbfoundation.org.