ยสท.ยุคใหม่! ช่วยเกษตกรยาสูบ ‘ต้นน้ำยันปลายน้ำ’ – ผุดแนวคิดทำตลาดผ่านการส่งออกและสร้างสินค้าใหม่ๆ

โอกาสทองของชาวไร่! การยาสูบฯ ขยายเวลารับซื้อใบยาเวอร์ยิเนีย-เบอร์เลย์ สร้างโอกาสทำรายได้เพิ่มขึ้น หลังเผชิญสภาพอากาศแปรปรวน ด้าน “ภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม” นำปรับแนวคิดทำธุรกิจยาสูบฯ รุกตลาดต่างประเทศ พร้อมผุดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สร้างโอกาสทำรายได้ในอนาคต
ในประเทศไทย…มีสินค้าเกษตรแค่เพียงไม่กี่ชนิด ที่มีการกำหนดโควต้าและราคารับซื้อที่แน่นอน แถมเกษตรกรยังล่วงรู้ล่วงหน้ากันเลยว่าแต่ละรายแต่ละครอบครัวจะมีรายได้กันคนละเท่าใด? ที่สำคัญสินค้าเกษตรที่ว่านี้…ไม่ได้อยู่ในความดูแลของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสียด้วย

กล่าวคือ…นอกจากอ้อยแล้ว อีกชนิดก็คือ ยาสูบ นั่นเอง
แม้ การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ในสังกัด กระทรวงการคลัง จะไม่ได้รับผิดชอบกำกับดูแลเกษตรกรที่เพาะปลูกยาสูบโดยตรง แต่เพราะสายงานตามภารกิจของ ยสท. มันจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก หากจะปฏิเสธการดูแลเกษตรกรที่เพาะปลูกยาสูบทางอ้อม
จึงไม่น่าแปลกใจ เหตุใด? ยสท. จึงได้ให้ความช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบทั้ง 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์เวอร์ยิเนีย สายพันธุ์เบอร์เลย์ และสายพันธุ์เตอร์กิช มาอย่างต่อเนื่อง นับแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และในอนาคต

ยสท. ภายใต้การนำของ นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการ ยสท. ได้พาคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง เดินทางลงพื้นที่ บ้านคลองสีฟัน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเยี่ยมเยียนเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ดูกระบวนการจัดเก็บใบยาสูบ และเยี่ยมชมโรงบ่มใบยา เมื่อช่วงสายวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา
กล่าวกันว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มิต่างจาก “เมืองหลวงของยาสูบ” เนื่องเพราะมีปริมาณการเพาะปลูกยาสูบทั้ง 3 สายพันธ์มากที่สุด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ยสท. ชวนคณะสื่อมวลชนพื้นที่ในจังหวัดแห่งนี้
นายภูมิจิตต์ กล่าวว่า ในฤดูการผลิต 2567/2568 เกษตรกรผู้เพาะปลูกใบยาสูบต้องเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะสถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2567 ซึ่งส่งผลให้การเพาะปลูกล่าช้า และเมื่อต้นยาสูบเจริญเติบโตในช่วงเดือนธันวาคม 2567 – มกราคม 2568 ก็ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติในพื้นที่ภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่าง จึงส่งผลให้ใบยาสูบแก่ช้าลง ชาวไร่จึงต้องใช้เวลานานขึ้นในการเก็บเกี่ยว และยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานคัดแยกเกรดของใบยา

ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ยสท. จึงได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการรับซื้อใบยาสูบออกไปก่อน สำหรับใบยาสูบพันธุ์เวอร์ยิเนีย รุ่นต้นฤดู จากเดิมมีกำหนดสิ้นสุดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ขยายระยะเวลาจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 และ ใบยาสูบพันธุ์เบอร์เลย์ รุ่นกลางฤดู จากเดิมมีกำหนดสิ้นสุดวันที่ 11 เมษายน 2568 ขยายระยะเวลาเป็นวันที่ 30 เมษายน 2568
“การขยายเวลาในครั้งนี้ ถือเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ เพราะช่วยให้ชาวไร่มีระยะเวลาในการจำหน่ายใบยาสูบให้กับ ยสท. เพิ่มขึ้น เนื่องจาก ใบยาเวอร์ยิเนียรุ่นต้นฤดู จะมีราคาสูงกว่ารุ่นปลายฤดู กิโลกรัมละ 3 บาท และ ใบยาเบอร์เลย์รุ่นกลางฤดู จะมีราคาสูงกว่ารุ่นปลายฤดู กิโลกรัมละ 2 บาท จึงส่งผลให้ชาวไร่ยาสูบมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการขยายเวลารับซื้อใบยาในฤดูกาลนี้” ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวและย้ำว่า…
นอกจาก มาตรการขยายเวลารับซื้อ แล้ว ยสท. ยังคงเดินหน้าสนับสนุนชาวไร่ยาสูบอย่างเต็มที่ ด้วยนโยบาย “รับซื้อใบยาสูบไม่จำกัดจำนวน” เฉพาะสายพันธุ์เบอร์เลย์และเตอร์กิช ซึ่งเป็นของขวัญให้แก่ชาวไร่ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มโควตารับซื้อใบยาเวอร์ยิเนียอีกในปีหน้า

“ยสท. ยืนยันที่จะเคียงข้างเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ และให้การสนับสนุนในทุกมิติ เพราะเราตระหนักถึงความสำคัญของชาวไร่ในฐานะฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมยาสูบไทย” นายภูมิจิตต์ ระบุ
พร้อมกันนี้ ผู้บริหารระดับสูงของ ยสท. ยังกล่าวยืนยันอีกว่า…ยสท.ยังคงดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในทุกด้าน เช่น โครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเพาะปลูก โครงการสนับสนุนแหล่งน้ำและระบบน้ำหยด ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โครงการศูนย์เผยแพร่การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ช่วยให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ พร้อมเยียวยาและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงการดำเนิน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสนับสนุนงบประมาณให้โรงบ่มใบยาเบอร์เลย์ สำหรับโรงบ่มสร้างใหม่ โรงละ 50,000 บาท และการต่อเติมโรงบ่มเดิม โรงละ 30,000 บาท โดยในปี งบประมาณ 2567 ชาวไร่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับการสนับสนุนก่อสร้างโรงบ่มจำนวน 19 โรง และต่อเติมโรงบ่มอีกจำนวน 20 โรง

ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวอีกว่า ยสท. พร้อมเป็นแรงสนับสนุนหลักให้กับชาวไร่ยาสูบ และยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานภายใต้แนวทางที่สมดุลระหว่างภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชาวไร่ พร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมยาสูบไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
มีข้อเท็จจริงบางประการที่สังคมภายนอกอาจไม่รู้? นั่นคือ…แม้ ยสท. จะมีข้อจำกัดในการดำเนินงาน ทั้งเรื่องมาตรการภาษี รวมถึงกระแสการต่อต้านธุรกิจบุหรี่ กระทั่ง ฉุดกำไรของ ยสท. ที่เคยมีระดับหมื่นล้านบาทต่อปี เหลือเพียง 100 ล้านบาทเศษในบางปี แต่เพราะแนวคิดและวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ยสท.ในยุคหลังๆ ทำให้กำไรขยับขึ้นเป็น 200 ล้านบาทในปีก่อนหน้านี้ และเพิ่มไปถึง 700 ล้านบาทในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยร้อยละ 93 ของกำไรที่มี ยสท.ก็จะต้องส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินให้กับกระทรวงการคลังอีกด้วย
รายได้และกำไรที่เติบโตในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ…วิสัยทัศน์ในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ทั้งการส่งออกใบยาสูบผ่านเอเย่นต์ระดับนานาชาติ และส่งออกบุหรี่แบรนด์ไทย ไปยังประเทศที่มีแรงงานไทยเข้าไปทำงาน นอกจากนี้ ยสท.ยังได้ร่วมมือกับ ผู้ผลิตบุหรี่จากจีน สร้างแบรนด์ใหม่รองรับตลาดในประเทศจีน และสินค้าใหม่ที่ว่านี้ ก็เป็นกำลังที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน อยู่ในขณะนี้

ผู้ว่าการ ยสท. ยอมรับว่า ยสท.มีแนวคิดที่จะขยายบทบาทหน้าที่ใหม่ไปสู่การเป็น “ผู้รับจ้างผลิตบุหรี่” (OEM) ให้กับเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากโรงงานผลิตยาสูง ณ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยา สามารถจะสร้างกำลังการผลิตในแต่ละปีสูงมากถึง 30,000 ล้านมวนต่อปี นี่ยังไม่นับรวมกำลังการผลิตผลิตยาเส้นมีกำลังการผลิต 12,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และกำลังการผลิตยาเส้นพองอีกราว 2,280 กิโลกรัมต่อชั่วโมงอีก
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ได้ถูกนำเสนอไปยังกระทรวงคลังและขณะนี้ ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นตอนของการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนจะผ่านฉลุยในระดับกระทรวง กระทั่ง นำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. แล้วผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จนเป็นกฎหมายรองรับแนวคิดข้างต้นหรือไม่?
อันนี้ต้องลุ้นกันยาวๆ…
นอกจากนี้ กยส. ในยุคของ นายภูมิจิตต์ ยังมีการระดมมันสมองจาก ทีมผู้บริหารและพนักงานรุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับอมเพื่อบรรเทาอาการอยากบุหรี่ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ให้กลิ่นหอมในลักษณะอโรม่าเพื่อความผ่อนคลาย รวมถึง ผลิตภัณฑ์น้ำหอมที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนา โดยมีส่วนผสมของยาสูบ ซึ่งทั้งหมด ยสท.มีที่จะแผนการผลิตและวางจำหน่ายเพื่อการพาณิชย์ทั้งในและนอกประเทศ ในอนาคตอันใกล้นี้

ผู้บริหารระดับสูงของ ยสท. ระบุว่า เมื่อมีความชัดเจนทั้งในประเด็นข้อกฎหมาย แผนการผลิตและการตลาดที่ชัดเจนแล้ว ก็จะแถลงข่าวให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป
ทั้งหมดคือภาพการดำเนินงานในปัจจุบัน ที่กำลังจะนำไปสู่อนาคตที่สดใสกว่าในการดำเนินงานของ ยสท. ในยุคที่มีผู้ว่าการฯชื่อ นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม
อนึ่ง ในวันที่ ยสท. ภายใต้การนำของ นายภูมิจิตต์ และคณะผู้บริหารฯ ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่บ้านคลองสีฟัน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ นั้น ได้มีผู้แทนจาก สมาคมชาวไร่ยาสูบ เดินทางเข้าพบ ผู้ว่าการ ยสท. เพื่อแสดงความขอบคุณที่ได้ประกาศรับซื้อใบยาสูบแบบไม่จำกัดจำนวน ซึ่งถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่ และสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมยาสูบ.


