กรมทรัพย์สินทางปัญญา’ มุ่งนำไฮเทคอัพให้บริการ – ย้ำ! ป้องสิทธิบัตรแบรนด์ไทย สกัดต่างชาติจดทะเบียนซ้ำในต่างแดน

“อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา” ย้ำชัด! ปี 2568 เน้นนำเทคโนโลยีมาให้บริการสะดวกรวดเร็วแก่ประชาชนและธุรกิจ เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ประกาศคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย สกัดต่างชาติลักไก่นำเครื่องหมายการค้าไทยไปจดทะเบียนที่เมืองนอก

นางสาวนุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผแผนการดำเนินงานในปี 2568 ว่า กรมฯพร้อมเดินหน้านำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้บริการ เช่น บริการเร่งรัดสิทธิบัตร และการจัดทำ Big Data สิทธิบัตร โดยนำ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวิเคราะห์ เปรียบเทียบ ค้นหา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการได้รับสิทธิบัตรเร็วขึ้น ในส่วนของการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย นั้น กรมฯได้จัดทำโครงการ Trademark Monitor เฝ้าระวังการนำเครื่องหมายการค้าของคนไทยไปจดทะเบียนต่างประเทศโดยไม่สุจริต โดยเฉพาะ MSME ที่มีแผนการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ รวมทั้งให้ความรู้ คำแนะนำ และวิธีป้องกันหากถูกละเมิดเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ

ส่วน การป้องปราม ได้เน้นดูแลการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต โดยร่วมมือกับเจ้าของสิทธิ์ เจ้าของแพลตฟอร์ม E-commerce และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระงับและปิดกั้นเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าละเมิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า นักลงทุน เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และป้องกันไม่ให้สินค้าละเมิดถูกนำกลับมาจำหน่ายในท้องตลาดอีก รวมทั้งจับกุม กวาดล้างการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั่วประเทศ เพื่อให้ไทย หลุดจากบัญชี ประเทศที่ต้องจับตามอง หรือ WL (Watch List : WL) ตามรายงานสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ของ ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา หรือ ยู-เอส-ที-อาร์ (USTR)

อย่างไรก็ตาม ก่อนการประกาศสถานะในแต่ละปี ช่วงปลายเดือนเมษายน จะมีการประกาศรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงทั่วโลก (Notorious Markets) ของไทย ยังมีชื่อ MBK เซ็นเตอร์ อยู่ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยสหรัฐฯ อยากเห็นการปิด หรือยกเลิกสัญญาร้านค้าที่ขายของละเมิดทันที แต่ในทางปฏิบัติ ยังต้องหาแนวทางการทำงานกับตำรวจ ซึ่งถือว่าไทย ยังทรงตัว และในช่วงนี้ USTR กำลังรับฟังความเห็นจาก ผู้มีส่วนได้เสีย จนถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ จึงต้องทำการบ้านให้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปสหรัฐฯ น่าจะได้พบกับผู้ที่มีส่วนตัดสินใจ ซึ่งไทยจะใช้โอกาสนี้แสดงความจริงใจ-ความตั้งใจ โดยเฉพาะการแก้กฎหมายในหลายฉบับ และพร้อมจะมีส่วนร่วมในการละเมิดป้องกันการละเมิดต่างๆ น่าจะมีผลให้ประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐฯ มองในเชิงบวก

ส่วน นโยบาย “ทรัมป์ 2.0” เชื่อว่า สหรัฐฯ จะบอกป้องสินค้าทุกตัว รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาด้วย แน่นอนว่า จะส่งผลกระทบไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่ไทยจะต้องดำเนินการคือการดูแลสิทธิของคนในประเทศ รวมทั้งให้ความคุ้มครองสิทธิของต่างประเทศให้ทัดเทียมกันด้วย และดำเนินการจดทะเบียนคุ้มครองให้รวดเร็วขึ้นด้วยและยังมีแผนการพัฒนา โดยเตรียมทำ แพลตฟอร์ม Flips.IP (ฟลิพส์ ดอท ไอพี) กับภาคเอกชน มาช่วยให้เจ้าของลิขสิทธิ์เข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่อาจอยู่ในรูปแบบการระดมทุน (Investment Token) หรือใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงิน การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ การส่งเสริม Soft Power ไทย เน้นการสร้างคาแรคเตอร์ เช่น หมูเด้ง ให้มีความแข็งแกร่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับสินค้าและบริการของไทย การส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย.