สสว.เผยผลสำรวจ SME ปี 2568 ธุรกิจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี มีโอกาสขยายตัวมากที่สุด

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจมุมมองภาวะเศรษฐกิจและแผนรับมือในปี 2568 ของธุรกิจ SME ซึ่งได้สอบถามผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,696 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20 – 30 พฤศจิกายน 2567 จากผลสำรวจพบว่า SME ร้อยละ 72.1 คาดการณ์แนวโน้มธุรกิจในปี 2568 จะทรงตัวถึงเติบโตได้ดีขึ้น เนื่องจากยังคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่อาจจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ยังมีปัจจัยความกังวลต่อการประกอบธุรกิจได้แก่ การทะลักของสินค้าต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค

จากผลสำรวจระบุว่า SME มองว่า ในปี 2568 ธุรกิจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี มีโอกาสขยายตัวมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 23.5 รองลงมาคือ ธุรกิจด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง และธุรกิจสีเขียวและความยั่งยืน เช่น ธุรกิจที่ผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุที่ย่อยสลายง่าย ซึ่งมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับปัจจัยที่เป็นโอกาสสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในปี 2568 จะเปลี่ยนไปตามขนาดธุรกิจ กล่าวคือ ธุรกิจรายย่อย (Micro) ในกลุ่มธุรกิจภาคการค้าและภาคการบริการ มองว่านโยบายจากทางภาครัฐ เป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดี แต่ธุรกิจขนาดย่อม (Small) และขนาดกลาง (Medium) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจภาคการผลิตและภาคธุรกิจการเกษตร ให้ความสำคัญกับการนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของธุรกิจ ส่วนอุปสรรคสำคัญของ SME ในการประกอบธุรกิจปี 2568 ในมุมมองของธุรกิจรายย่อย (Micro) คือ กำลังซื้อและรายได้ของผู้บริโภค หากเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มองว่า การขาดแคลนวัตถุดิบ ราคาต้นทุน สินค้า/บริการ ค่าแรง เป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับรูปแบบของแผนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปี 2568 พบว่า รูปแบบแผนรับมือของธุรกิจรายย่อยจะเน้นการปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายเพื่อลดต้นทุนเนื่องจากต้นทุนในการประกอบธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงด้าน Marketing ที่จะเน้นการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก

ส่วนธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางจะให้ความสำคัญกับการปรับรูปแบบวิธีการประกอบธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ ได้แก่ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิตหรือการบริการ การพัฒนาทักษะแรงงานให้ครอบคลุมทุกด้าน

ดังนั้น SME กว่าร้อยละ 76.4 จึงต้องการลงทุนเพิ่มเติมในด้านการวิจัย ด้านการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและการโฆษณาผ่านช่องทางที่มีความหลากหลายมากขึ้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เพื่อรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจในปี 2568 รวมถึงกลยุทธ์สำคัญที่จะต้องปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น การมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการ การจัดโปรโมชั่น การใช้เอกลักษณ์และความแตกต่างเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าหลัก เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลการสำรวจยังระบุถึงรูปแบบของมาตรการหรือนโยบายที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการจากภาครัฐให้ช่วยผลักดันด้านเศรษฐกิจในปี 2568 พบว่า SME กว่าร้อยละ 63 ต้องการมาตรการที่สร้างแรงจูงใจในการใช้จ่าย รวมถึงการลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ในการเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว

นอกจากนี้ การลดภาระต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน การสนับสนุนด้านเงินทุนและหนี้สินเพื่อรักษาสภาพคล่องธุรกิจ และการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการและแรงงาน เป็นประเด็นสำคัญที่ SME ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมมากที่สุด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password