สรรพสามิตชูแนวทาง ESG ชงความยั่งยืนสร้างสมดุล รายได้ควบเศรษฐกิจโต พ่วงเพิ่มศักยภาพแข่งขันของไทย
กรมสรรพสามิตยุค “ดร.กุลยา” ประกาศเดินหน้าต่อนโยบาย “กรม ESG” เตรียมพร้อมบูรณาการด้านนโยบาย กฎหมาย พัฒนาบุคลากร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนและความสมดุลระหว่างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย
ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึง แนวทางดำเนินงานของกรมสรรพสามิต นับจากนี้ ว่า กรมฯยังคงมุ่งเน้นดำเนินนโยบายด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง โดยต่อยอดการดำเนินงานเพื่อมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และปรับปรุงการทำงานให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรของกรมสรรพสามิตให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับในด้าน E (Environment) และ S (Social) จะเน้นนโยบายการขยายฐานภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การจัดเก็บภาษีคาร์บอน การปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ เพื่อรองรับมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมสุราชุมชน และการจัดเก็บภาษีโซเดียม เป็นต้น
ส่วนในด้าน G (Governance) จะมุ่งเน้นการปรับกระบวนการทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตทั้งด้านการบริหาร การจัดเก็บภาษี การปราบปราม และการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนการบูรณาการ ความร่วมมือและสื่อสารกับภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับร่วมกัน
ในด้าน นโยบายภาษีจะใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืน โดยการรักษาสมดุลระหว่างรายได้และผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เช่น…
– ภาษีรถยนต์ จะมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility) ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี EV PHEV HEV และHydrogen ตามนโยบายที่รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
– ภาษีแบตเตอรี่ จะมีการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่จำเป็นต้องมีการใช้แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเกณฑ์ตามค่า Energy Density หรือประจุไฟฟ้าต่อน้ำหนัก และ Lifecycle หรือรอบการอัดประจุไฟฟ้า
– ภาษีคาร์บอน จะเป็นการเพิ่มกลไกราคาคาร์บอนภายในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จากการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับราคาคาร์บอน เพื่อสร้างความตระหนักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยเน้นย้ำว่าการเพิ่มกลไกดังกล่าวจะไม่กระทบต่อภาระภาษีสรรพสามิตในปัจจุบัน
– การแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบ โดยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมสุราชุมชน เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีมาตรฐานและแข่งขันได้
– ภาษีโซเดียม อยู่ระหว่างการศึกษาประเภทสินค้าสำเร็จรูปและการกำหนดเกณฑ์ปริมาณโซเดียมที่จะจัดเก็บ ซึ่งจะเป็นภาษีที่ต้องการมุ่งเน้นด้านสุขภาพประชาชนเป็นหลัก
อธิบดีกรมสรรพสามิต ยังกล่าวถึงการดำเนินนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดเก็บภาษี ว่า อยู่ในระหว่างดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย…
– การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้กลไกอัตราตามมูลค่า ซึ่งฐานภาษีสำหรับอัตราตามมูลค่าในปัจจุบัน คือ “ราคาขายปลีกแนะนำ” โดยการกำหนดหลักเกณฑ์การแจ้งราคาขายปลีกแนะนำให้เข้มงวดและรัดกุม การกำหนดหลักเกณฑ์การสำรวจและการจัดเก็บข้อมูลเพื่อพิจารณาฐานนิยม การปรับปรุงฐานข้อมูลด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย การกำหนดขั้นตอนการพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำให้ชัดเจน และใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ตลอดจนการกำหนดราคาของกลางเพื่อใช้กระบวนการคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
– การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่สามารถแสกน QR CODE เพื่อตรวจสอบการชำระภาษีผ่านการใช้ E-stamp สำหรับสินค้าสุรา ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการใช้ E-stamp กับสินค้าบุหรี่ซิกาแรตที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการชำระภาษีสำหรับสินค้าบุหรี่ซิกาแรตได้ โดยมีการจัดเก็บข้อมูล อาทิ ตราสินค้า รายละเอียดสินค้า ชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า วันที่ชําระภาษี สถานที่จัดส่ง และราคาสินค้า เป็นต้น โดยผู้ซื้อสามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ว่าตรงกับสินค้าหรือไม่ และหากพบว่า ข้อมูลของสินค้ากับข้อมูลที่ปรากฏไม่ตรงกันผู้ซื้อสามารถโทรแจ้งมายังสายด่วนสรรพสามิต โทร. 1713 ได้ เพื่อกรมสรรพสามิตจะเข้าไปตรวจสอบต่อไป
– การพัฒนาคนให้มีความรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีและกฎหมาย เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ซึ่งจะมีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในรูปแบบ Digital เช่น พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะทางด้านดิจิทัลแบบ Multi-Skilled Digital และพัฒนาเป็นระบบ e-Knowledge Sharing การถ่ายทอดความรู้ผ่านระบบโรงเรียนสรรพสามิต Excise School ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเนื้อหาเรื่องที่สนใจและพัฒนาทักษะของตนเองให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง
– การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการทำงานโดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Digitalization 4 ด้าน ได้แก่ D-Service D-Office D-culture และ D-standard ตัวอย่างเช่น การขึ้นทะเบียน การยื่นแบบชำระภาษี การชำระเงิน และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตลอดจนการใช้ Big Data และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อคาดการณ์รายได้และกำหนดนโยบายภาษี รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบาย
“กรมสรรพสามิตเตรียมพร้อมในทุกมิติในการบูรณาการด้านนโยบาย กฎหมาย พัฒนาบุคลากร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สอดคล้องและเป็นไปทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนและความสมดุลระหว่างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย” ดร.กุลยา กล่าวสรุป.