DAD อัพสกิลบุคลากรด้านนวัตกรรม สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้สู่ความยั่งยืน
วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2567 ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ประธานกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคล ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ DAD Asset Development พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ร่วมมอบรางวัลและของที่ระลึกแก่พนักงาน ในงาน Innovation Awards ประจำปี 2567 มีผลงานได้รับรางวัลจำนวน 5 ทีม และโครงการสร้างวิทยากรและที่ปรึกษาภายในองค์กร ธพส. (Train the Trainer & Consult : TTC) ปี 2567 คัดเลือกผู้มีศักยภาพเป็นวิทยากรภายในองค์กรจำนวน 8 คน จากหลากหลายสาขา ณ ห้องประชุม 4 – 5 อาคารธนพิพัฒน์
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร กล่าวว่า DAD มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร เพราะเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรที่จะมีส่วนผลักดันให้องค์กรเกิดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง การจัดประกวด Innovation Awards จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยอัพสกิลให้บุคลากรได้ใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ การนำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนในกระบวนการทำงาน ช่วยเรื่องพัฒนาและเกิดการต่อยอด อันจะส่งผลให้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้แก่องค์กร
ทั้งนี้ Innovation Awards เป็นโครงการที่ DAD จัดให้มีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ภายในองค์กร และเน้นย้ำการจัดการความรู้และนวัตกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของวิสัยทัศน์การพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดสามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้าของ DAD มากขึ้น ในปีนี้มีผู้สนใจส่งประกวดทั้งสิ้น จำนวน 13 ผลงานจากพนักงาน 37 คน และผ่านเข้ารอบได้รับรางวัลจำนวน 5 ผลงาน โดย DAD จะนำผลงานทั้งที่ได้รับรางวัลและที่ส่งเข้าประกวดไปพิจารณาขยายผล พัฒนาเป็นโครงการในปี 2568 เพื่อนำไปใช้งานจริง และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและความยั่งยืนให้แก่องค์กร
ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กล่าวว่า โครงการ Innovation Awards ประจำปี 2567 จัดขึ้นภายใต้ธีม knowledge-based innovation ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการเชื่อมโยงการจัดการความรู้สู่นวัตกรรม ส่วนโครงการสร้างวิทยากรและที่ปรึกษาภายในองค์กร ธพส. (Train the Trainer & Consult : TTC)
ปี 2567 เป็นโครงการที่ขยายผลจากการดำเนินงานการพัฒนาต้นแบบ (Prototype Phase 2) ผลงานประกวดนวัตกรรมบริการ / นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ โครงการประกวด Innovation Awards ในปี 2565 ได้ขยายผลมาสู่การจัดทำโครงการ TTC ปี 2567 เพื่อพัฒนาให้กับบุคลากร DAD ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ใฝ่เรียนรู้พัฒนาศักยภาพตนเอง และเป็นต้นแบบที่ดีในการเป็นบุคลากรตัวอย่าง (Role Model) ที่รักในการพัฒนาตนเอง ทั้งในแง่ของการสร้างความรู้ ทักษะและความมั่นใจให้กับบุคลากรในบทบาทของ “วิทยากรภายใน” จากแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation)
ทั้งนี้การทำ Train the Trainer ช่วยองค์กรลดต้นทุนการฝึกอบรมระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อความยั่งยืนและความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว อีกทั้งการพัฒนาและการแบ่งปันความรู้ จะทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในตลาดได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย.