กรมพัฒนาธุรกิจฯ ผนึก 12 พันธมิตร ประกาศความสำเร็จ สู่ยุคบริการไร้กระดาษ ชี้! ประหยัดต้นทุนปีละกว่า 7 พันล.  

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกาศความสำเร็จในการบูรณาการข้อมูลกับ 12 หน่วยงาน เริ่มต้นยุคบริการภาครัฐไร้กระดาษ พัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูล ยกเลิกการเรียกรับเอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคล ลดภาระและเพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว คาดประหยัดต้นทุนผู้ประกอบการได้กว่า 7,100 ล้านบาทต่อปี   

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง นโยบายการให้บริการภาครัฐไร้กระดาษ ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็น จุดเริ่มต้นที่ดีในการปฏิรูปกระบวนการทำงานของภาครัฐ ซึ่งสอดรับตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นรัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนเป็นการยกระดับการให้บริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปฏิรูปกระบวนการทำงานของภาครัฐ และสร้างสรรค์สังคมดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการจดทะเบียนและให้บริการข้อมูลธุรกิจ ได้มีการพัฒนาระบบเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลนิติบุคคล เช่น หนังสือรับรองนิติบุคคล บริคณห์สนธิ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และผู้ประกอบการให้สามารถนำข้อมูลที่เก็บในรูปแบบดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดปัจจุบัน ที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคล ประกอบด้วย 1. ข้อมูลทะเบียนนิติบุคคล 2. ข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น 3. ข้อมูลงบการเงิน 4. ข้อมูลทะเบียนพาณิชย์ 5. ข้อมูลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 6. ข้อมูลทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ และ 7. ข้อมูลสนับสนุนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของนิติบุคคล กับหน่วยงานภาครัฐแล้ว 171 หน่วยงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีงานบริการในคู่มือสำหรับประชาชน จำนวน 74 หน่วยงาน (ตาม พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558)

โดยมี 10 หน่วยงาน อาทิ กรมบัญชีกลางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมสรรพากร ประกาศยกเลิกการเรียกรับเอกสารนิติบุคคลจากประชาชนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 พบว่าทั้ง 10 หน่วยงานมีการใช้บริการเอกสารจากระบบเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 รวม 2.8 ล้านรายการ เมื่อเทียบกับสถิติการใช้บริการเชื่อมโยงข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยหน่วยงานที่มีสัดส่วนการใช้บริการสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมที่ดิน

อย่างไรก็ตาม จากความสำเร็จการเชื่อมโยงข้อมูลระยะที่ 1 ทำให้มีหน่วยงานรัฐเข้าร่วมประกาศไม่เรียกรับเอกสารจากประชาชนอีก 12 หน่วยงาน รวมเป็น 22 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของหน่วยงานทั้งหมด 74 หน่วยงาน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการครอบคลุมทุกหน่วยงานในไม่ช้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและการไม่เรียกเอกสารจากประชาชน สามารถอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนของภาคธุรกิจและภาครัฐได้มาก โดยข้อมูลของ สำนักงาน ก.พ.ร. พบว่า ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการมากกว่า 7 พันล้านบาทต่อปี สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนไปสู่ Digital Government และการอำนวยความสะดวกประชาชน

ดังนั้น ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ อีก 52 หน่วยงานที่ได้เชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศยกเลิกเรียกรับเอกสารจากประชาชน เข้าร่วมแสดงเจตจำนงประกาศยกเลิกไม่เรียกรับเอกสารนิติบุคคลเช่นในวันนี้ เพื่อร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศตามแนวคิด ESG (Environment, Social and Governance) ที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาของประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“การดำเนินการครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบราชการไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังคงมุ่งมั่นพัฒนาระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและประชาชน รวมถึงช่วยลดประมาณการใช้กระดาษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” อธิบดีฯอรมน กล่าวสรุป

อย่างไรก็ตาม รายชื่อ 12 หน่วยงานภาครัฐพร้อมเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลระยะที่ 2 ประกอบด้วย 1.กรมทรัพย์สินทางปัญญา 2.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 4.กรมทางหลวงชนบท 5.กรมการท่องเที่ยว 6.กรมท่าอากาศยาน 7.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) 8.สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 9.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ10.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 11.สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ 12.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช).

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password