พาณิชย์ชี้! 3 ด. ‘นอมินี’ ทุบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 1 หมื่นล. – ‘พิชัย’ นำทัพหน่วยงานรัฐฟันไปแล้ว 747 ราย
บอร์ดบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างชาติที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เผย! 3 เดือน กลุ่มทุนนอมินีต่างด้าว ตบเท้าเข้ามาทำความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ระบุ! ธุรกิจท่องเที่ยว-อสังหาฯ โดนหนักมาก ด้าน “พิชัย นริพทะพันธุ์” สั่งฟันกลุ่มนอมินีผิดกฎหมายไทยแล้วกว่า 747 ราย พร้อมให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการตรวจเข้มหนักขึ้น ปลื้ม! ผลคุมเข้มทำสินค้านำเข้าจากจีนลดลง 27%
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างชาติที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 2/2567 ว่า การประชุมฯเป็นไปเพื่อเร่งออกมาตรการที่จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยการดำเนินการปราบปรามในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจากจีนผ่านช่องทางออนไลน์จะต้องแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งปัญหาที่มีถือว่าเป็นส่วนน้อย แต่ก็ต้องแก้ไขปัญหาด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายพัฒนาการค้าร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯได้รับทราบผลการดำเนินการปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดนอมินี ระหว่างวันที่ 1 ก.ย.- 4 ธ.ค. 2567 โดยได้ดำเนินคดีไปแล้ว 747 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางธุรกิจรวม 11,720 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจท่องเที่ยว 85 คดี อสังหาริมทรัพย์ 216 คดี ขนส่ง 10 คดี และธุรกิจอื่นๆ 436 คดี และยังพบว่า การปัญหาการนำเข้าสินค้าจากจีนผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.- ต.ค.) ปี2567 เทียบกับช่วงก่อนบังคับใช้มาตรการปรับลดลงต่อเนื่อง โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าจีนรวม ลดลงจาก 18,680 ล้านบาท เหลือ 9,116 ล้านบาท หรือลดลงจากเดือนละ 3,112 ล้านบาท เหลือเพียง 2,279 ล้านบาท คิดเป็นอัตราลดลงราว 27 %
นอกจากนี้ ส่วนผลการดำเนินการปราบปรามปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา แยกตามหน่วยงาน พบว่า กรมศุลกากรดำเนินคดีรวม 12,145 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 529 ล้านบาท มีทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินคดี 30,393 รายการ กับสถานประกอบการจำนวน 34 แห่ง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินคดี 59 ราย มูลค่าความเสียหาย 33.6 ล้านบาท เช่น นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผ้บริโภค(สคบ.) ดำเนินคดี 159 ราย มูลค่าความเสียหาย 27.8 ล้านบาท เช่น สื่อโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นเท็จ หรือเกินจริง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้านฉลาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินคดี 177 ราย มูลค่าความเสียหาย 153 ล้านบาท และ สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินคดี 30,676 เรื่อง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯได้มีการวางแผนแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยใน ระยะสั้นภายในเดือน ธ.ค.2567 สมอ. จะเร่งเพิ่มมาตรฐานสินค้าอีก 58 รายการ จากปัจจุบัน 144 รายการ รวมเป็นทั้งสิ้น 202 รายการ และล่าสุดเพิ่มมา 5 รายการ อาทิ เหล็ก และจะเพิ่มอีก 53 รายการในปี 2568 ด้าน อย.จะกักและเก็บตัวอย่างสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงก่อนการตรวจปล่อย เพิ่มชนิดสารที่จะตรวจสอบ พร้อมกับเฝ้าระวังในท้องตลาดด้วยการสุ่มตรวจผักผลไม้ และลงพื้นที่ตรวจสอบผักนำเข้า ส่วน กรมศุลการกรจะเข้มงวดการตรวจสอบสินค้านำเข้า เพิ่มอัตราการเปิดตู้จาก 20% เป็น 30% ขณะที่ สคบ.จะติดตามและตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจที่โฆษณาขายสินค้าที่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคผ่านสื่อ สังคมออนไลน์ สิ่งพิมพ์ และป้ายโฆษณาต่างๆ รวมทั้งควบคุมการจัดทำฉลากสินค้าและคู่มือการใช้งานสินค้าเป็นภาษาไทยของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศที่นำมาจำหน่ายในไทย อีกด้วย.