ถ้าอยากมีเรื่อง!!! รีบเจรจา ‘MOU 44 – ตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ’ ให้เร็ว
‘จตุพร พรหมพันธุ์’ เชื่อปม MOU 44 เป็นชนวนจัดการรัฐบาลที่คิดล้มประเทศ ลั่นนายกฯพูดเธอกับฉับตกลงกันไม่ได้ ต้องแบ่งประโยชน์ ส่อเจตนามุ่งหาแต่ประโยชน์ไม่คิดเจรจาเขตแดนก่อนชัดเจน ท้าอยากมีเรื่องรีบเจรจากัมพูชา และตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติให้เร็ว เชื่อคนจะลงถนนแน่ ฟาด ปปช.-กกต.อย่ามัวแต่รำมวยเอาแต่ปากกล้า รีบทำหน้าที่ตรวจสอบคำร้องให้ยุติโดยเร็ว
วันที่ 27 พ.ย.2567 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ท้าทายว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเติบโตและได้ดิบได้ดีในอำนาจจากการลงถนน แต่กลับลืมกำพืดและด้อยค่าประชาชน ดังนั้น ถ้าอยากมีเรื่องและคิดว่าตัวเองใหญ่คับประเทศแล้ว ต้องรีบเจรจา MOU 44 แบ่งผลประโยชน์ 50:50 ก่อนตกลงปักปันเขตแดนเลย ก็เป็นชนวนหาเรื่องได้สมใจ
นายจตุพร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยต้องไม่ลืมถนน และพวกคุณยังได้ดีเพราะถนนที่มีคนตาย คนบาดเจ็บเพื่อให้คุณเหยียบไปมีอำนาจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณจำเรื่องราวของคนบนถนนได้ก็มีตอนเดียวเท่านั้น คือนำไปอธิบายในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่พอจะมีการเคลื่อนไหวลงถนน กลับจะเป็นจะตายขึ้นมาให้ได้
“คนที่จุดม๊อบได้ดีที่สุดทุกยุคสมัยไม่ใช่แกนนำเคลื่อนไหวในแต่ละสถานการณ์ แต่คนคือรัฐบาลขณะนั้น มาวันนี้รัฐบาลเพื่อไทยกำลังจะหาเรื่องอีกแล้ว โดยจะสุกงอมหรือไม่ก็ตาม เพราะบริบทไม่เหมือน 20 ปีที่แล้ว ดังนั้น คนที่เคยอยู่บนถนน มีกำพืดเติบโตมาจากถนน ต้องมองกันอย่างเข้าใจว่า ถ้ารัฐบาลไม่อยากหาเรื่องแล้ว การลงถนนคงไม่จำเป็น”
นายจตุพร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กรณี MOU 44 วันนี้ยังไม่ถึงขั้นแบ่งดินแดนแบ่งผลประโยชน์กัน แต่ทันที่คณะกรรมการเจทีซี (JTC) ไปปฏิบัติตามความต้องการของทักษิณ ชินวัตร อยากแบ่งผลประโยชน์ 50:50 กับกัมพูชา โดยไม่พูดถึงดินแดน และไม่พยายามพูดถึงบริษัทเชฟรอนที่ได้รับสัมปทานไปแล้วเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว การลงถนนย่อมจำเป็น
พร้อมทั้งกล่าวว่า นายกฯ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร อธิบายเรื่อง MOU 44 ยิ่งไปไกลกันใหญ่ ซึ่งระบุว่า ถ้าเธอกับฉัน คือ ไทยกับกัมพูชาตกลงพื้นที่ทับซ้อนไม่ได้ก็แบ่งปันผลประโยชน์กัน ดูเสมือนการบริหารปกครองประเทศนี้มันง่ายมากเหมือนบริหารสมบัติของตัวเองอย่างไรอย่างนั้น
“ถ้าคณะกรรมการเจทีซี ยังไม่เข้า ครม. ซึ่งอาจเข้าในคราวประชุม ครม.สัญจรที่เชียงใหม่ พร้อมการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ก็ขอให้รีบ และอยากท้า อยากมีเรื่อง ทันทีคุณไปเจรจาแล้วเพลี่ยงพล้ำด้วยการตกลงเรื่องผลประโยชน์ก่อนดินแดนก็ต้องมีเรื่องกัน โดยไม่จำเป็นต้องบอกว่า เป็นพวกล้มรัฐบาลจะกี่ก๊กอะไรก็ตาม วันนั้นถ้าคนไทยในชาติไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ก็เสียชาติเกิดแล้ว”
นายจตุพร กล่าวว่า เจตนาแรกของรัฐบาลและคณะกรรมการเจทีซี ไม่พูดเรื่องดินแดนเลย ส่วนนักวิชาการไปรื้อค้นกลับไม่รับฟังว่า มันเป็นประตูนำไปสู่การสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนได้ เพราะกัมพูชาไม่มีวันยอมเสียเปรียบไทย เนื่องจากเขากว่าจะปกครองประเทศได้ต้องต่อสู้แลกดวงตา แลกชีวิต ตายกันไม่รู้เท่าไร แต่ไทยได้ปกครองประเทศง่ายดายกันมาก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลอธิบายการยกเลิก MOU 44 ไม่ได้ แต่คณะกรรมการกฤษฎีการบอกว่า ยกเลิกได้ ปัญหาที่ซ่อนลึก คือ เขาไม่ไว้วางใจคุณ เพราะเจตนาของคุณบอกว่าต้องการเพียงผลประโยชน์ 50:50 ไม่ได้พูดถึงเรื่องดินแดนเลย แล้วนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ยังมาบอกย้ำอีกถึงเธอกับฉันตกลงกันไม่ได้ก็แบ่งผลประโยชน์กันอีก มันยิ่งชัดเจนในเจตนาอย่างยิ่ง
“แล้วคนไทยได้ผลประโยชน์จริงหรือเปล่า ทำไมอุ๊งอิ๊งและทักษิณ ไม่ยอมพูดว่า คนไทยได้ประโยชน์อะไรบ้าง แล้วจะเสียประโยชน์อะไรบ้าง เพราะเร่งมือเจรจาก็ไปมีประโยชน์กับเชฟรอน เรายังซื้อน้ำมันจากต่างประเทศเหมือนเดิม ค่าไฟจ่ายราคาแพงตามเดิม แล้วรีบไปทำหาหอกอะไรไม่ทราบ”
ดังนั้น คำว่าผลประโยชน์อื่นใดที่ซุกซ่อนในแต่ละตอนสัญญานั้น ล้วนสุ่มเสี่ยงกับการเสียดินแดนทั้งสิ้น เมื่อคนจะออกมาลงถนน กลับทำท่าจะยิ่งใหญ่กันเหลือเกิน แล้วสุดท้ายไม่เคยมีปัญญาเอาตัวรอดสักที
“ถ้าคุณไม่อยากให้เกิดการชุมนุม ไม่อยากให้ประชาชนลงถนน และคุณรู้ว่ามีความเหนื่อยยากอย่างไร ถ้าเขามีทางเลือกอื่น ใครจะอยากลงถนน ถ้าเป็นว่าสุ่มเสี่ยงกับการเสียดินแดนแล้วคนไทยนั่งอยู่ในบ้าน กลัวว่าลงถนนแล้วจะมีการยึดอำนาจ เดี๋ยวพรรคการเมืองอื่นจะได้ประโยชน์ ความรักชาติบ้านเมืองกับมนุษยเส็งเคร็งพันธุ์แบบนี้มันอยู่แถวไหนหมด”
นายจตุพร กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดรัฐบาลคือผู้กำหนดในสถานการณ์ ทั้งนายกฯ อุ๊งอิ๊ง กับทักษิณ ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกัน ดังนั้น องคาพยพมันพูดเป็นอื่นไม่ได้ ต้องตามเป็นลูกขุนพลอยพยักกันไป สิ่งนี้จะเป็นชนวน หากแน่จริงก็รีบทำเลย จะได้แตกหักกัน ตนคนหนึ่งจะไม่อยู่บ้านแน่นอน
อีกทั้งย้ำว่า ต้องตกลงเรื่องดินแดนให้จบ จัดการสัญญาสัมปทานเชฟรอนว่ายกเลิกได้หรือไม่ เพราะโลกเปลี่ยนไป 52 ปีแล้ว แต่ไทยกลับย้งมีสัญญาสัมปทานทาสจนถึงปัจจุบันนี้ได้อย่างไรกัน
ดังนั้น ถ้าต้องการให้เอาผลประโยชน์ชาติแล้ว ทำไมรัฐบาลรับฟังเสียงประชาชนไม่ได้ แม้รีบไปก็ไม่ได้ราคาน้ำมันลดลง แต่เชฟรอนกลับได้ประโยชน์ เราพยายามบอกให้เอาประเทศกันก่อน แล้วรัฐบาลคิดถึงชาติบ้านเมืองกันบ้างหรือเปล่า
“เรื่องนี้ไม่ใช่การคิดอยากล้มรัฐบาล แต่พวกเขาไม่พอใจจึงต้องลุกขึ้นมาจัดการรัฐบาลที่คิดล้มประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนจะทนกันไม่ได้ ดังนั้น ถ้าอยากมีเรื่องก็ทำ แล้วจะได้เจอเรื่อง และถ้าขบวนการในบ้านเมืองนี้ปล่อยปละละเลยจนต้องสุ่มเสี่ยงกับการเสียดินแดน มันต้องเดือดร้อนประชาชน เพราะจะงอมืองอเท้ากันได้อย่างไร”
นายจตุพร กล่าวว่า บอกไปยังรัฐบาลเลยว่า ถ้ามั่นใจและไม่เห็นหัวประชาชน ไม่เห็นแก่ประเทศก็ทำไป เพราะประเทศไทยได้แค่เล็กน้อยเพียงเงินค่าภาคหลวง แล้วยังซื้อน้ำมันและก๊าซราคาแพง ขณะที่น้ำมันและก๊าซอ่าวไทยในพื้นที่ของไทยมีปริมาณเท่าใด ก็ไม่รู้กันทั้งนั้น
“ถ้าอยากจะรีบหาผลประโยชน์ต้องตกลงเขตแดนให้จบ แล้วรื้อสัญญาเชฟรอนเสีย ถ้ามันง่ายเขาจะมารอคุณเหรอ เพราะทั้งสองประเทศต่างปกป้องผลประโยชน์ประเทศจึงขุดกันไม่ได้ ดังนั้น การรีบเร่งจึงเป็นจุดเปราะบางอย่างยิ่ง”
ส่วนการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ นายจตุพร กล่าวว่า อย่าลีลาให้มากเลย อยากเอานายกิตติรัตน์ ณ ระนอง มาเป็นถึงขั้นมีความคิดสวนทางกับอดีตผู้ว่า ธปท.และคนแบงก์ชาติ รวมทั้งบรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการร์ทั้งหลาย อีกอย่างลูกศิษย์หลวงตามหาบัวล้วนประกาศยืนต้านกัน
“ถ้าอยากตั้งกันนัก ก็เอาเข้า ครม.สัญจรที่เชียงใหม่ วันที่ 29 พ.ย.นี้เลย เมื่อใหญ่กันนักหนาไม่ใช่เหรอ พ้นจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกฯ นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ถึงหนึ่งปียังกล้ากันถึงขนาดนี้ จะเอากันให้ได้ใช่หรือไม่ เอาได้ก็เอาไป ถ้าคนในบ้านในเมืองงอมืองอเท้ากันคุณก็ยึดประเทศนี้ไป คุณจะชนะทุกเรื่องก็ให้มันรู้กันไป”
นายจตุพร กล่าวว่า กรณีการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะลามไปถึงการแต่งตั้งผู้ว่าแบงก์ชาติในปี 68 รวมทั้งเกี่ยวพันกับการเคาะเพดานเงินกู้ การโยกหนี้สารพัด ซึ่งรู้กันหมดว่า คนที่ร่ำรวยกับการลดค่าเงินบาทในปี 40 กำลังคิดอ่านอะไรกัน
อีกทั้งกล่าวว่า ถ้ารัฐบาลทำตามสิ่งที่พูดทั้งกรณั MOU 44 ตั้งประธานบอร์ด์แบงชาติ และการตั้งบ่อนคาสิโนปลายปี 67 นี้ ล้วนเป็นการท้าทายมโนสำนึกของประชาชนทั้งสิ้น ซึ่งจะได้รู้กันว่า บ้านเมืองนี้ได้ยกให้เบ็ดเสร็จกันแล้วหรือไม่
ส่วนนายแสวง บุญมี เลขา กกต. ที่ประกาศอย่างแข็งแรงเหลือเกิน ในการตรวจสอบกรณีครอบงำพรรคการเมือง แต่กลับซอยเท้าอยู่กับที่ ดังนั้น ควรแสดงให้คนไทยเห็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังและมีความคืบหน้าอย่างไร
“ในแต่ละเรื่องราวของคำร้องแล้ว หากบ้านเมืองนี้พึ่งองค์กรอิสระไม่ได้ ก็ต้องกลับไปก่อน รธน. 40 คือ ไม่ต้องมีองค์กรอิสระมันเลย เมื่อมีแล้วพึ่งไม่ได้จะมีไว้ทำไมกัน อีกอย่าง ปปช.กรณีไต่สวนชั้น 14 และ กกต. เมื่อการสอบสวนไม่คืบ มัวแต่ซอยเท้า ก็ไม่ควรมีองค์กรแบบนี้อีกเลย”
นายจตุพร กล่าวว่า เมื่อ ปปช.และ กกต. เอาแต่รำมวยกันอยู่ ควรชี้ผลการตรวจสอบมาเลยว่า ไม่พบความผิด เพราะถ้าไม่มีความชัดเจนแล้ว การตัดสินใจของประชาชนจะมีความยากลำบาก และปัญหายิ่งลุกลามมาทำสุ่มเสี่ยงกับเรื่องดินแดนอีก ซึ่งมีผลประโยชน์ปลายทางทั้งสิ้น
“เมื่อกฎระเบียบไม่ได้ปฏิบัติด้วยการเสมอหน้าและเท่าเทียมกันแล้ว ในวันข้างหน้าประชาชนต้องคิดอ่านกันว่า ถ้าแต่ละขบวนการตรวจสอบไม่ได้ทำหน้าที่ ผมไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำตามใจเรา แต่ต้องทำให้ถูกตามหลักกบิลบ้านกบิลเมืองและให้เห็นอนาคตของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ” นายจตุพร กล่าว